ระทึกบัญชีดํา 100 ขรก. มีชื่อ 10 ผู้ว่า ปลัดกระทรวงดังติดโผ บิ๊กต๊อกส่งประยุทธ์ฟัน พิษซื้อปุ๋ย-ฟุตซอลแพง 'บิ๊กอ๊อด'ไม่สนข่าวเด้ง ลั่นมีวินัย-รับนโยบาย

     มติชนออนไลน์ : ผู้ว่าการ สตง.แฉ'ปลัดกระทรวง-อธิบดี-ผวจ. -นายกเล็ก' ติดโผทุจริตส่งให้ ศอตช.เชือด 20 รายชื่อ ยันมีข้อมูลหลักฐานเพียงพอ แฉผู้ว่าฯ อยู่ในข่ายเชือดนับสิบราย ด้านกระแสข่าวเด้ง'สมยศ'เจ้าตัวเมิน

      ความคืบหน้าศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (ศอตช.) ซึ่งมี พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เป็นประธาน เตรียมนำรายชื่อข้าราชการระดับต่างๆ ประมาณ 100 รายชื่อที่พัวพันการทุจริตคอร์รัปชั่น เสนอ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ในฐานะประธานคณะกรรมการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (คตช.) ในสัปดาห์นี้ เพื่อพิจารณาส่งไปยังต้นสังกัดเพื่อให้โยกย้ายออกจากตำแหน่ง รอการสอบสวนทางวินัยและดำเนินคดีอาญา ขณะที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) ในฐานะเลขานุการ ศอตช. เร่งคัดแยกรายชื่อและฐานความผิดของกลุ่มข้าราชการดังกล่าว เบื้องต้นพบว่ามีข้าราชการระดังสูงเทียบเท่าอธิบดี หรือระดับ 10 ประมาณ 5 ราย เกี่ยวข้องกับโครงการขนาดใหญ่ที่ส่อไปในทางทุจริต เข้าข่ายในการปรับย้ายจากจำนวน 100 รายชื่อด้วยนั้น

      เมื่อวันที่ 6 เมษายน นายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เปิดเผยว่า รับผิดชอบในการตรวจสอบ ได้ส่งรายชื่อให้ทางศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (ศอตช.) ประมาณ 20 รายชื่อ มีทั้งราชการ ส่วนกลาง ภูมิภาค ท้องถิ่น มีตั้งแต่ปลัดกระทรวง อธิบดี ผู้ว่าราชการจังหวัด นายกเทศมนตรี นายกองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ทั้งหมดนี้เป็นส่วนที่ สตง.ได้รายชื่อมาจาก 2 ส่วน ส่วนแรกคือรายชื่อที่เคยตรวจสอบและแจ้งดำเนินการแล้ว แต่หน่วยงานกำกับดูแล ผู้บังคับบัญชา ไม่ดำเนินการเกี่ยวกับเรื่องทางวินัย ทำให้การสอบสวนยังไม่เสร็จสิ้น นอกจากนี้ยังรวมองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ผู้ว่าราชการจังหวัดหรือนายอำเภอจะต้องมีการสอบสวน เพื่อให้มีการรับผิดชอบในทางปกครอง แต่ก็ยังไม่ดำเนินการเช่นกัน ส่วนสองคือรายชื่อที่อยู่ในขั้นตอนกระบวนการตรวจสอบที่ สตง.มีข้อมูลอยู่แล้ว แต่กระบวนอาจจะยังไม่เสร็จสิ้น กลุ่มนี้ได้ส่งให้ ศอตช.ด้วย เพื่อจะได้ระงับยับยั้งในระหว่างที่ยังตรวจสอบอยู่ เพราะอาจมีความเสียหายอย่างอื่นตามมาอีก 

     นายพิศิษฐ์ กล่าวว่า เจตนารมณ์ของ สตง.คือดำเนินการให้มีการรับผิดชอบ ไม่ได้มีเจตนามุ่งกลั่นแกล้งใคร เพราะองค์กรตรวจสอบทั้งหลายที่อยู่ในกลุ่มส่งรายชื่อแก่ 4 หน่วยงาน ไม่ว่าจะเป็น สตง. คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) คณะกรรมการติดตามและตรวจสอบการใช้งบประมาณภาครัฐ (คตร.) และสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) ก็เป็นหน่วยงานอิสระ และเป็นหน่วยงานที่ตรวจสอบมาแล้ว ไม่ใช่หน่วยงานทางด้านปกครอง แต่เป็นหน่วยงานทางด้านตรวจสอบ เพราะฉะนั้นที่ส่งรายชื่อไปก็มีข้อมูลหลักฐานพอสมควร

     รายงานข่าวแจ้งว่า ในวันที่ 7 เมษายน หน่วยงานที่ร่วมเป็นคณะทำงานศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (ศอตช.) มีคณะกรรมการติดตามและตรวจสอบการใช้งบประมาณภาครัฐ (คตร.), สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.), สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) จะส่งรายชื่อข้าราชการที่เข้าไปพัวพันกับการทุจริตที่มีการจัดกลุ่มและฐานความผิดเรียบร้อยสมบูรณ์ มายังนายประยงค์ ปรียาจิตต์ เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (เลขาธิการ ป.ป.ท.) ในฐานะเลขานุการ ศอตช. เพื่อเสนอต่อ พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ในฐานะประธานภายในสัปดาห์นี้ 

      รายงานข่าวแจ้งด้วยว่า สำหรับรายชื่อข้าราชการที่เข้าไปเกี่ยวข้องกับโครงการที่ตรวจสอบแล้วพบว่ามีการทุจริต มีหลายโครงการ เช่น โครงการจัดซื้อปุ๋ยและยาปราบศัตรูพืชช่วงปี 2554-2555 ของกระทรวงมหาดไทย เป็นข้อมูลจาก ป.ป.ช.และ สตง. ที่ก่อนหน้านี้มีการชี้มูลความผิดและเรียกผู้เกี่ยวข้องมาสอบปากคำ โครงการดังกล่าวมีข้าราชการระดับสูงเทียบเท่าซี 10 ที่ต้องถูกปรับย้ายครั้งนี้กว่า 10 ราย บางรายเป็นผู้ว่าราชการจังหวัด อีกทั้งยังมีโครงการทุจริตการก่อสร้างสนามฟุตซอล การจัดซื้อเครื่องเล่น เครื่องออกกำลังกายแพงเกินจริง มีข้าราชการระดับรองอธิบดีเข้าข่ายถูกปรับย้าย 

      ส่วนกระแสข่าวสะพัดในโซเชียลมีเดียว่า พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) อาจถูกโยกย้ายพ้นตำแหน่ง ผบ.ตร.ในช่วงเดือนเมษายน เนื่องจากเกิดความขัดแย้งกับฝ่ายผู้มีอำนาจ ในการพิจารณาคัดสรรตัวบุคคลในการแต่งตั้งโยกย้ายนายพลตำรวจระดับผู้บังคับการ (ผบก.) นอกวาระประจำปีนั้น พล.ต.อ.สมยศกล่าวว่า คนชื่อ พล.ต.อ.สมยศเป็นคนมีวินัย และการตัดสินใจทำอะไรโดยเฉพาะเรื่องสำคัญๆ จะไม่ตัดสินใจโดยลำพัง จะต้องนำขึ้นหารือขอความเห็นชอบและขอนโยบายจากผู้บังคับบัญชาก่อนทุกครั้ง สิ่งที่ทำมาทุกครั้งได้มีการหารือและรับนโยบายทุกครั้ง ส่วนในเรื่องของการแต่งตั้งเป็นเรื่องของคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) ซึ่งมีความเห็นร่วมกัน ไม่เคยใช้อำนาจโดยลำพัง 

     "ผมไม่ให้ความสำคัญกับข่าวลักษณะเช่นนี้ รวมทั้งไม่กังวลกับกระแสข่าวดังกล่าวด้วย ขอทำงานอย่างเดียว ผมมั่นใจว่าปฏิบัติหน้าที่อย่างถูกต้องมาโดยตลอด ก็ไม่ต้องรู้สึกหวั่นไหวอะไร ดูสีหน้าผมสิว่าผมกังวลมั้ย" พล.ต.อ.สมยศกล่าว

      ด้าน พล.ต.ท.ประวุฒิ ถาวรศิริ ผู้ช่วย ผบ.ตร. ในฐานะโฆษก ตร. กล่าวว่า ขออนุญาตไม่ออกความเห็น เป็นเรื่องของผู้บังคับบัญชา ไม่เกี่ยวข้องกับการแต่งตั้งโยกย้ายนอกฤดูกาล ซึ่งตอนนี้ยังเป็นวาระของการแต่งตั้งชั้นรองสารวัตรกับชั้นประทวน ปลายเดือนพฤษภาคมถึงจะเสร็จสิ้น

      ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับการแต่งตั้งโยกย้ายนอกวาระประจำปีนั้น มีการพิจารณาแต่งตั้งโยกย้ายระดับผู้ช่วย ผบ.ตร.-ผู้บัญชาการ ทดแทนตำแหน่งที่ว่างเนื่องจากการเกษียณอายุราชการก่อนกำหนด และการออกจากราชการไปแล้ว ในการประชุม ก.ตร.ครั้งที่ 5/2558 เมื่อวันที่ 10 มีนาคมที่ผ่านมา ส่วนการแต่งตั้งนอกวาระในระดับตำแหน่งอื่นๆ นั้นยังไม่มีการสั่งการให้เริ่มดำเนินการแต่อย่างใด