วันที่ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558 เวลา 22:42 น.  ข่าวสดออนไลน์

 

 

สื่อนอกทึ่งคำ‘บิ๊กตู่’ จะห้าม‘ปู’กินก๋วยเตี๋ยวก็ได้(มีคลิป) 

       เมื่อวันที่ 12 ก.พ. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำนักข่าวเอเอฟพีของฝรั่งเศส รายงานกรณีคำให้สัมภาษณ์ของพล.อ.ประยุทธ์ ซึ่งกล่าวถึงเหตุการณ์ที่น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ถูกทหารเรียกตรวจที่จ.เชียงใหม่ และต่อมามีภาพน.ส.ยิ่งลักษณ์ รับประทานก๋วยเตี๋ยวในร้านอาหารที่จ.เชียงใหม่เผยแพร่ออกสื่อต่างๆ ในประเทศไทย โดยพล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า "ถ้าเขา (น.ส.ยิ่งลักษณ์) อยากไปกินก๋วยเตี๋ยว ก็เดินทางไปได้ แต่ถ้าเราไม่อนุญาตก็ไปไม่ได้" 
 
     โดยรายงานข่าวระบุ นี่เป็นการแสดงให้เห็นว่า ทหารยังคงจับตาการเคลื่อนไหวของอดีตผู้นำหญิงของไทยต่อไป รายงานระบุอีกว่า พล.อ.ประยุทธ์ อธิบายถึงการเรียกตรวจรถของน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชี้เป็นกระบวนการรักษาความปลอดภัยตามปกติ ภายใต้สภาวะที่สังคมยังไม่สงบนิ่งเท่านั้น

นที่ 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558 ปีที่ 24 ฉบับที่ 8843 ข่าวสดรายวัน


สื่อฝรั่งโหม-คำบิ๊กตู่ จะห้าม'ปู'ไม่ให้กินก๋วยเตี๋ยวก็ได้ 
สวนสหรัฐอีก! ให้รอโรดแม็ป 'ไก่อู'ชี้แจงแทน ปมพูดถึงรปห. ยิ่งลักษณ์งงข่าว ขอลี้ภัยไปนอก


เกือบล้ม - พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ เสียหลักเกือบล้ม ขณะเดินลงไปยัง โป๊ะท่าน้ำ เพื่อเป็นประธานเปิดตลาดน้ำวิถีไทย คลองผดุงกรุงเกษม ทำเนียบรัฐบาล ยังดีที่ เจ้าหน้าที่เข้ามาประคองไว้ทัน เมื่อวันที่ 12 ก.พ.

     โรดแม็ปยังไม่จบ อย่าเพิ่งมาเร่งประชาธิป ไตย เผยสั่งเองให้ดูแล 'ปู'อย่างดี แนะทำตามกติกา ถ้าไม่ผิดก็กลับมาเป็นรัฐบาลได้ ขณะที่สื่อนอก ตีข่าวคำพูดบิ๊กตู่ ถ้าจะสั่งห้าม'ปู' กินก๋วยเตี๋ยวก็ทำได้ 'ไก่อู'แจงปมให้สัมภาษณ์สื่อยุ่นเรื่องรัฐประหาร ชี้สหรัฐ เข้าใจคลาดเคลื่อน ยันนายกฯ ไม่คิดสืบทอดอำนาจ'ยิ่งลักษณ์'งงข่าวขอลี้ภัย ยันพร้อมสู้คดี 'สมชาย'มั่นใจไม่ผิดคดีสลายม็อบ 7 ต.ค.51 ป.ป.ช.โต้เปล่ายื้อคดี 99 ศพ นัดหารือ อีกครั้ง 26 ก.พ. นักวิชาการระบุแก้พ.ร.บ.ศาลทหาร จำกัดสิทธิเสรีภาพประชาชน

'บิ๊กตู่'โวยสหรัฐเร่งโรดแม็ป
       เมื่อวันที่ 12 ก.พ. ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่โฆษกกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐกังวลกรณีได้ให้สัมภาษณ์ที่ญี่ปุ่นระบุอาจมีรัฐประหารอีกถ้ารัฐบาลพลเรือนจากการเลือกตั้งแก้ปัญหาไม่ได้และอุปทูตสหรัฐยังจี้ไทยคืนประชาธิปไตยว่า ที่ผ่านมาได้ชี้แจงกับสหรัฐหมดทุกอย่างแล้ว แต่เป็นเรื่องของเขาว่าจะเข้าใจหรือไม่ เราจะไม่ไปทะเลาะอยู่แล้ว ที่ผ่านมาอธิบายจนไม่รู้จะอธิบายอย่างไรแล้ว ทุกอย่างต้องเดินตามโรดแม็ปที่ได้วางไว้ในปี 2558 ขณะนี้ผิดจากปี 2558 ตรงไหน เพราะยังไม่จบปี 2558 เลย หากมาเร่งรัด ตอนนี้คงไม่ใช่เพราะทุกอย่างไม่ได้อยู่ที่ตน รัฐบาล หรือคสช. แต่ขึ้นอยู่กับคนไทยทั้งประเทศ 
       ผู้สื่อข่าวถามว่า ที่นายกฯให้สัมภาษณ์สื่อญี่ปุ่นว่าหากบ้านเมืองเกิดความไม่สงบ ทหารจะกลับมาอีกหมายความว่าอย่างไร นายกฯกล่าวว่าได้อธิบายไปว่าสิ่งที่เป็นปัญหาอยู่ตอนนี้เราพร้อมเดินหน้าประเทศ แต่ทุกอย่างอยู่ที่กระบวนการร่างรัฐธรรมนูญ คนที่เกี่ยวข้องที่จะไปเลือกตั้ง พรรคทั้งฝ่ายค้านและรัฐบาลที่ผ่านมายอมรับกติกาตรงนี้หรือไม่ หากคิดจะเดินหน้าประเทศก็ควรยอมรับ หากไม่ยอมรับจะไปต่อต้าน ตนต้องทำให้สงบแล้วเดินหน้าให้ได้ นี่เป็นสิ่งที่ทำให้ไม่เป็นไปตามโรดแม็ป ตนรับผิดชอบความปลอดภัยชีวิตและทรัพย์สิน จะให้เกิดอะไรขึ้นไม่ได้ 

ขอร้องปชช.เลิกประท้วง
       "ที่ผมพูดว่า หากบ้านเมืองไม่สงบทหารจะกลับเข้ามานั้น เพราะจะมีใครรับประกันกับผมได้หรือไม่ว่าจะเชิญคนเป็นคู่ขัดแย้งมาเซ็นสัญญาสงบศึกกันได้หรือไม่ ว่าจะไม่มีความขัดแย้งเกิดขึ้นอีกก่อนเลือกตั้งครั้งนี้ ส่วนรัฐธรรมนูญคงไม่มีใครเห็นด้วยทั้งหมด ซึ่งเป็นธรรมดา จากนั้นจัดเลือกตั้งให้จบ ด้วยหลักธรรมาภิบาลและรับประกันว่าจะปฏิรูปอย่างไร ไปทำสัญญากันมาว่าจะไม่ประท้วงและมีความรุนแรงเกิดขึ้นอีก การประท้วงประชาชนทำได้ตามสิทธิถ้าไม่เกิดเหตุรุนแรง แต่วันนี้ต้องขอร้อง เพราะมีกฎอัยการศึกอยู่ ไม่เช่นนั้นก็ไม่สามารถแก้อะไรได้เลย" พล.อ.ประยุทธ์กล่าว 
       ต่อข้อถามว่า เป็นไปได้หรือว่าถ้าร่างรัฐธรรมนูญเสร็จจะให้ทุกฝ่ายมาลงสัตยาบันต่อหน้านายกฯ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่าไม่ใช่เรื่องของตน เป็นเรื่องของสภาปฏิรูปแห่งชาติ(สปช.) และคณะกรรมาธิการยกร่าง รัฐธรมนูญ(กมธ.ยกร่าง)ไปทำมา ยังมีอีกหลายขั้นตอน 

บ่นเบื่อ-เหนื่อยอยากพักแล้ว
       พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวต่อว่า สื่อก็อยากให้ตนใช้แต่อำนาจ พอใช้ก็กล่าวหาว่าละเมิดสิทธิมนุษยชน จะเอาอะไรก็ให้แน่สักอย่าง อย่ามาไล่แบบนี้ ต้องช่วยกันสร้างสภาวะแวดล้อมให้เกิดบรรยากาศความร่วมมือ ไม่ใช่มาโยนให้ตนใช้อำนาจเดี๋ยวก็ว่าไม่เป็นประชาธิปไตย วันนี้อำนาจที่มีอยู่เพื่อให้เกิดความสงบ ถ้าทุกอย่างสงบเรียบร้อยไม่มีการคัดค้าน ไม่มีระเบิด อาวุธสงครามใครจะอยากใช้อำนาจ จะกลัวอะไรกันหนักหนา ผมน่าจะเป็นคนที่กลัวมากกว่า เพราะเป็นคนที่ใช้อำนาจ"
       ผู้สื่อข่าวถามว่า หากรัฐบาลต่อไปไม่สามารถบริหารประเทศได้ ทหารจะกลับ เข้ามาอีกใช่หรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า "ผมถึงได้บอกให้ทุกคนช่วยกัน อย่าให้มีเหตุการณ์แบบนั้น ท่านบอกให้ผมต้องเดินตามโรดแม็ป วันหน้าผมก็ส่งให้มีการเลือกตั้ง หากจะขัดแย้งกันอีกก็เป็นสิ่งที่พวกท่านทำให้เกิดขึ้นเอง ผมหยุดความขัดแย้งที่ผ่านมา เพื่อให้เกิดความสงบ ถือว่าผมได้ทำไปแล้ว หากทำแล้วไม่สำเร็จจะมาโทษผมอีกก็ไม่ถูก เมื่ออยากเลือกตั้งก็ไปหาทางทำให้ได้ ถ้าเลือกตั้งแล้วตีกันอีก ผมก็ไม่รู้ รัฐบาล ต่อไปต้องแก้ปัญหากันให้ได้ ส่วนผมไม่เอาแล้ว เบื่อ เหนื่อย ผมจะไปพักผ่อนแล้ว ถ้าจะขัดแย้งทะเลาะกันต่อไป ผมก็ไม่เอาแล้วพอที" 

ย้ำจัดเลือกตั้งต้นปี 59
      พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ขณะนี้กังวลว่าหากรัฐธรรมนูญไม่ออกมาจะทำอย่างไร แต่ได้ให้กมธ.ยกร่างฯเป็นผู้ร่าง แต่สิ่งสำคัญคือคนที่เกี่ยวข้องกับความขัดแย้งต้องมาแสดงความคิดเห็นตรงนั้นด้วย แล้วมาตกลงกันว่าจะเดินหน้าประเทศอีกสัก 4 ปีได้หรือไม่ รัฐบาลหน้าจะอยู่อย่างไร และระหว่างที่ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ตนสั่งการให้ร่างกฎหมายลูกไปด้วย ถ้ากฎหมายลูกเสร็จภายในสิ้นปีนี้จะได้เตรียมการเลือกตั้งได้ในต้นปี 2559 ซึ่งตนอยากให้มีการเลือกตั้งโดยเร็ว ทุกประเทศก็เข้าใจและให้เวลาเรา แล้วเราจะมาเร่งรัดกันเองอยู่ทำไม ไม่เข้าใจ การเมืองก็คือการเมือง ต้องไปแก้กันให้ได้ ปัญหาขัดแย้งเป็นเรื่องของคู่ขัดแย้ง ตนไม่ได้เป็นคู่ขัดแย้งกับใคร ตนมีหน้าที่รักษากฎหมายและกติกาประเทศ
        พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า สิ่งที่กังวลคือ หากเกิดเหตุความไม่สงบหรือเกิดอันตรายกับใครข้างใดข้างหนึ่ง ใครจะรับผิดชอบ มันจะกลับมาที่รัฐบาล ฉะนั้นเราต้องดูแลทุกพวก แต่จะมากหรือน้อยต้องไปว่ากัน อย่าเอาเรื่องความขัดแย้งมาปนกัน ตนให้ความเป็นธรรมกับทุกคน ยอมรับว่าสถานการณ์การเมืองขณะนี้กวนใจการทำงานบ้างนิดหน่อย แต่ตนตั้งใจจะแก้ปัญหาชาติ การเมืองจะว่าอย่างไรก็ว่าไป แต่ไม่ทำให้ตนเสียสมาธิ ต้องขอโทษที่อาจมีหงุดหงิดบ้าง ต้องเห็นใจตนด้วย เพราะสมองตนคิดหลายเรื่อง

ยอมรับสั่งดูแล'ปู'อย่างดี
      ส่วนเรื่องน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีต นายกฯมีส่วนทำให้เสียสมาธิหรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ต้องเข้าใจว่าตอนนี้น.ส.ยิ่งลักษณ์อยู่ในกระบวนการยุติธรรมก็ต้องว่าตามกระบวนการ บางครั้งอยากให้ทุกอย่างสงบบ้าง หากน.ส.ยิ่งลักษณ์จะไปกินก๋วยเตี๋ยวหรือไปไหนก็ปล่อยไป แต่เมื่อไรที่เขาไม่ให้ไปก็ไปไม่ได้ ไม่ให้กินก็กินไม่ได้ถ้าท่านถูก ท่านก็กลับมาเป็นรัฐบาล ตนจะไปอะไรกับท่านได้ 
      ผู้สื่อข่าวถามว่า เวลานี้น.ส.ยิ่งลักษณ์ควรอยู่ในประเทศใช่หรือไม่ นายกฯกล่าวว่าไม่รู้ ต้องไปดูขั้นตอนต่างๆ ซึ่งมีอยู่ชัดเจน อัยการสูงสุด(อสส.)ชี้แจงว่าระหว่างเตรียมการเรื่องสำนวนฟ้องคดีอาญาโครงการรับจำนำข้าวก็ควรอยู่ในประเทศ และเมื่อคิดว่าตนเองถูกก็ต้องอยู่ภายใต้กติกา ถ้าไม่เคารพกติกาแล้วมาบอกว่าสิ่งที่ทำถูก จะรับกันได้หรือไม่ ความขัดแย้งก็เกิดขึ้นอีก
       "อดีตนายกฯเคยบอกกับผมว่าพร้อมสู้ทุกอย่าง ซึ่งท่านก็สู้ ผมบอกไปว่าให้ดูแลท่านให้ดี อย่าให้เป็นอะไรขึ้นมา เพราะหากใครทำอะไรขึ้นมาก็เดือดร้อนผมอีก ต้องดูแล หนักนิดเบาหน่อยขออภัยกัน ตอนผมไป ทุกประเทศก็บอกว่าไม่ได้ไปทำร้ายใคร ทุกอย่างอยู่ในกระบวนการยุติธรรม ใครทำผิดกฎหมายชัดเจนต้องถูกดำเนินคดี ลงโทษ ไม่ได้เลือกฝ่าย ไม่เคยเข้าข้างใคร" พล.อ. ประยุทธ์กล่าว

แนะยึดกำหมายสู้คดี
       ต่อข้อถามว่า ฝ่ายความมั่นคงประเมินหรือไม่ว่าน.ส.ยิ่งลักษณ์จะเดินไปสุดทางอย่างไร พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่าไม่รู้ แต่นายนรวิชญ์ หล้าแหล่ง ทนายของน.ส.ยิ่งลักษณ์ออกมาชี้แจงแทนอยู่แล้ว เขาก็ต้องรับผิดชอบสิ่งที่ชี้แจงมา ตนก็ฟังอยู่ว่าจะสู้คดีจนถึงที่สุด ไม่หนี ส่วนที่ระบุว่าการตรวจค้นรถน.ส. ยิ่งลักษณ์ที่จ.เชียงใหม่ เป็นการคุกคามสิทธินั้น เราให้เกียรติมาตลอด เจ้าหน้าที่ไม่เคยไปละเมิดสิทธิส่วนบุคคล สื่อต้องพิจารณาเองว่าควรไม่ควร ทั้งนี้ ตนอยากให้น.ส.ยิ่งลักษณ์ เลือกหนทางตามกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม ขอให้ยึดกฎหมาย มีหลักฐานก็ไปแถลงในศาล ตนไม่ใช่ศาล ไปตัดสินไม่ได้
     พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ส่วนที่มีเจ้าหน้าที่ติดตามความเคลื่อนไหวของน.ส.ยิ่งลักษณ์นั้นเป็นเรื่องปกติ เจ้าหน้าที่ต้องดูแลทุกคน ที่อันตราย บางคนก็ร้องว่าไม่มีอิสระ แต่ เจ้าหน้าที่ก็ต้องดูแลความปลอดภัย ดีกว่าไม่มีคนดู ไปไหนก็ปลอดภัย สบายใจ อย่าไปให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มาก

สื่อฝรั่งตีข่าวห้ามปูกินเตี๋ยว
       วันเดียวกัน สำนักข่าวเอเอฟพีของฝรั่งเศส รายงานกรณีคำให้สัมภาษณ์ของพล.อ.ประยุทธ์ ซึ่งกล่าวถึงเหตุการณ์ที่น.ส.ยิ่งลักษณ์ ถูกทหารเรียกตรวจที่จ.เชียงใหม่ และต่อมามีภาพน.ส.ยิ่งลักษณ์ รับประทานก๋วยเตี๋ยวในร้านอาหารที่จ.เชียงใหม่เผยแพร่ออกสื่อต่าง ในประเทศ โดยพล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า "หากน.ส. ยิ่งลักษณ์ จะไปกินก๋วยเตี๋ยวหรือไปไหนก็ปล่อยไป แต่เมื่อไรที่เขาไม่ให้ไปก็ไปไม่ได้ ถ้าไม่ให้กิน ก็กินไม่ได้" โดยรายงานข่าวระบุ นี่เป็นการแสดงให้เห็นว่า ทหารยังคงจับตาการเคลื่อนไหวของอดีตผู้นำหญิงของไทยต่อไป 
      รายงานระบุอีกว่า พล.อ.ประยุทธ์ อธิบายถึงการเรียกตรวจรถของน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชี้เป็นกระบวนการรักษาความปลอดภัยตามปกติ ภายใต้สภาวะที่สังคมยังไม่สงบนิ่งเท่านั้น

'ไก่อู'บอกมะกันเข้าใจผิด
       ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงท่าทีของสหรัฐว่า ถือเป็นการแสดง ออกตามหน้าที่และบทบาท ซึ่งไม่ใช่ครั้งแรกเพราะเคยแสดงความเห็นลักษณะนี้มาตลอดทั้งต่อไทยและพม่า ซึ่งไทยมีจุดยืนชัดเจน ไม่ต้องการขัดแย้งหรือไม่เป็นมิตรกับใคร เราพยายามรักษาสัมพันธภาพที่ดีกับทุกประเทศ และเราไม่ได้อยู่กับใครหรือยึดประเทศใดเป็นที่พึ่งเพียงประเทศเดียว แต่เลือกสรรสิ่งที่ดีสุดเพื่อประเทศ ไม่ต้องการขยายให้เกิดความขัดแย้งกับประเทศใด
     พล.ต.สรรเสริญ กล่าวว่า ส่วนที่โฆษกกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐกังวลกรณีที่พล.อ.ประยุทธ์ให้สัมภาษณ์ที่ญี่ปุ่นระบุอาจมีรัฐประหารอีกถ้ารัฐบาลพลเรือนจากการเลือกตั้งแก้ปัญหาไม่ได้นั้น เชื่อว่าคงเข้าใจความหมายคลาดเคลื่อน เพราะนายกฯไม่ได้สื่อความหมายว่าจะสืบทอดอำนาจ แต่ชี้แจงทำความเข้าใจว่าที่ผ่านมาไทยมีปัญหาขัดแย้งของกลุ่มการเมือง ซึ่งรัฐบาลขณะนั้นไม่สามารถบริหารประเทศได้ กองทัพและคสช.จำเป็นต้องเข้ามายุติปัญหาขัดแย้งและกำหนดแนวทางปฏิรูปเพื่อไปสู่การปกครองระบอบประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ เมื่อถามว่าไทยจะทำหนังสือชี้แจงไปยังสหรัฐหรือไม่ พล.อ.สรรเสริญกล่าวว่ายังไม่ได้ตรวจสอบไปยังกระทรวงการต่างประเทศถึงเรื่องนี้ ที่สำคัญคือต้องทำความเข้าใจกับคนในประเทศ 

เตือน'จตุพร'อย่าจุดชนวน
     พล.ต.สรรเสริญกล่าวถึงกระแสข่าว น.ส.ยิ่งลักษณ์จะขอลี้ภัยทางการเมืองไปสหรัฐว่า เท่าที่ตรวจสอบพบว่าอดีตนายกฯยังอยู่ที่บ้านพักในจ.เชียงใหม่ ไม่ได้ลี้ภัยตามที่เป็นข่าว ส่วนกรณีที่นายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธานนปช.วิจารณ์เรื่องเจ้าหน้าที่ทหารตรวจรถน.ส.ยิ่งลักษณ์ และกระแสข่าวขอ ลี้ภัยทางการเมือง พล.ต.สรรเสริญกล่าวว่ารัฐบาลได้ติดตามความเคลื่อนไหวกลุ่มการเมืองต่างๆ ซึ่งไม่ได้เพ่งเล็งกลุ่มใดเป็นพิเศษ อะไรที่คนเหล่านั้นรับได้ ไม่รู้สึกกดดันมากนักและออกมาแสดงความคิดเห็นบ้าง รัฐบาลก็ไม่ว่าอะไร หากแสดงความเห็นที่สุ่มเสี่ยงให้เกิดความขัดแย้ง หน่วยความมั่นคงจะเรียกมาหารือและสร้างความเข้าใจ แต่ไม่อยากให้เรียกว่าปรับทัศนคติ เพราะการปรับทัศนคติไม่สามารถปรับเปลี่ยนได้ภายใน 1-5 วัน 
       ผู้สื่อข่าวถามว่า นายจตุพรระบุหากน.ส. ยิ่งลักษณ์ถูกดำเนินคดีและติดคุก คนเสื้อแดงจะออกมาต่อต้านจนคุกแตก พล.ต.สรรเสริญกล่าวว่ามองได้หลายแบบ หากเราไม่เอามาเป็นสาระ ถือว่าก็พูดกันไป เพราะนายจตุพรพูดเก่งอยู่แล้วซึ่งรัฐบาลก็รับฟัง แต่โดย ข้อเท็จจริง ถ้าคนใดทำความผิดจริงและกระบวนการยุติธรรมนำไปสู่การพิพากษาอย่างไรก็เป็นเรื่องปกติ ถ้าไม่ได้กระทำผิดศาลคงไม่พิพากษา 

หนุนคสช.เบรกปูไปนอก
      นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ให้สัมภาษณ์ถึงสถานการณ์การเมืองขณะนี้ ว่าบางเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเช่นกรณีระเบิดค่อนข้างจะเชื่อได้ว่าน่าจะเกี่ยวพันกับเรื่องการเมือง ส่วนเหตุการณ์อื่นๆ นั้นเป็นเรื่องเฉพาะ เช่นการจะอนุญาตหรือไม่อนุญาตให้เดินทางออกนอกประเทศ ซึ่งตามหลักกฎหมาย น.ส.ยิ่งลักษณ์มีสิทธิ์เดินทางออกนอกประเทศ แต่เนื่องจากเป็นสถานการณ์ไม่ปกติ การจะห้ามต้องใช้อำนาจพิเศษ เป็นเรื่องของกฎอัยการศึกจึงเป็นการตัดสินใจของ คสช. และการที่น.ส.ยิ่งลักษณ์ได้รับการอารักขาเป็นพิเศษ น่าจะเป็นเรื่องของผู้มีอำนาจกำลังกังวลว่าจะมีการหลบหนีจากคดีจำนำข้าวหรือไม่ เพราะหากไม่มาศาลวันแรกคดีก็เดินไม่ได้ และ รัฐบาลกับคสช.จะต้องถูกเล่นงานจากสังคม 
     นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ส่วนที่มีกระแสข่าวว่าน.ส.ยิ่งลักษณ์จะขอลี้ภัยไปสหรัฐนั้น มองว่าเป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์ทางการเมืองของพรรคเพื่อไทยที่พยายามต่อสู้ว่าคดีที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องการเมือง เพราะการจะขอลี้ภัยได้ต้องเป็นเรื่องที่ถูกกลั่นแกล้งทางการเมือง

'ยิ่งลักษณ์'งงข่าวขอลี้ภัย
       ผู้สื่อข่าวรายงานความเคลื่อนไหวของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ว่า ยังคงพักผ่อนที่จ.เชียงใหม่ โดยช่วงเที่ยง น.ส.ยิ่งลักษณ์ พร้อมเพื่อนสมัยเรียนอนุบาลโรงเรียนเรยีนา เชลี วิทยาลัย ร่วมพบปะพูดคุย ที่ศูนย์การค้านิ่มซิตี้ ร้าน โวคาโน แยกสนามบิน เมืองเชียงใหม่ ก่อนจะรอรับ น้องไปป์ ด.ช.ศุภเสกข์ อมรฉัตร กลับจากเข้าค่าย โดยมีประชาชนสนใจเข้ามาทักทายให้กำลังใจและขอถ่ายรูปเป็นที่ระลึก คนใกล้ชิดน.ส.ยิ่งลักษณ์ เปิดเผยว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์เคยเปรยว่า ความยุติธรรมในประเทศไทยนั้นยังคงมีอยู่ แต่หากถูกกลั่นแกล้งหรือไม่ได้รับความเป็นธรรมก็พร้อมจะเดินเข้าคุก และจะขอต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยจนวาระสุดท้าย 
      นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกฯ ให้สัมภาษณ์ถึงกระแสข่าวน.ส.ยิ่งลักษณ์ จะ ขอลี้ภัยไปต่างประเทศว่า เป็นข่าวมั่ว ไม่สร้างสรรค์ ตนได้คุยกับน.ส.ยิ่งลักษณ์แล้ว ซึ่งน.ส.ยิ่งลักษณ์ก็ยังงงๆ ว่าใครปล่อยข่าวนี้ โดยยืนยันว่าไม่คิดจะหลบหนีหรือลี้ภัยไปที่ไหน ขณะนี้กำลังใจดีมากและพร้อมต่อสู้คดีโครงการรับจำนำข้าวอย่างเต็มที่เพราะมีความบริสุทธิ์ใจและมั่นใจว่าจะได้รับความเป็นธรรมจากกระบวนการยุติธรรม ซึ่งทางทีมทนายเตรียมข้อมูลกันเต็มที่ ขณะนี้สถานการณ์บ้านเมืองสลับซับซ้อน ลึกลับ ไปหมด ระวังกันแทบไม่ไหว และน.ส. ยิ่งลักษณ์เป็นพลเมืองดีมาตลอด จึงไม่จำเป็นต้องลี้ภัย

ทนายยื่นอสส.สอบพยานเพิ่ม
       เวลา 13.00 น. ที่สำนักงานอัยการสูงสุด (อสส.) ศูนย์ราชการ แจ้งวัฒนะ นายนรวิทย์ หล้าแหล่ง ทนายความน.ส.ยิ่งลักษณ์ ยื่นหนังสือถึง อสส.ผ่านนายกิตินันท์ ธัชประมุข รองอธิบดีอัยการ สำนักงานสอบสวนอัยการสูงสุด เพื่อขอให้ อสส.ทบทวนคำสั่งฟ้องดำเนินคดีอาญาน.ส.ยิ่งลักษณ์ ในคดีทุจริตโครงการรับจำนำข้าว และขอให้มีการสอบสวนพยานเพิ่มเติม เนื่องจากยังมีข้อไม่สมบูรณ์ในสำนวนดังกล่าว 
       นายนรวิทย์ กล่าวว่า การมายื่นขอความเป็นธรรมครั้งนี้ถือเป็นครั้งที่ 6 แล้ว เพราะเห็นว่าคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ไม่ได้ดำเนินการเรื่องดังกล่าว แต่กลับมีคำสั่งดำเนินคดีอาญานั้นหมายความว่าอย่างไร ซึ่งในกระบวนการยุติธรรม ความเห็นต้องมีความมั่นคงและมีความชัดเจน จึงไม่อยากให้มองว่าเป็นการซื้อเวลา แต่เป็นการเรียกร้องตามสิทธิความเป็นธรรม อีกทั้งสถานะของน.ส.ยิ่งลักษ์ตอนนี้เป็นเพียงผู้ถูกกล่าวหา เพราะศาลยังไม่ได้รับคำฟ้อง

'เต้น'โพสต์เฟซเหน็บคสช.
       นายนรวิทย์ กล่าวว่า ส่วนกรณีที่ระบุ ให้น.ส.ยิ่งลักษณ์ มารายงานตัวต่อ อสส. ในวันที่ส่งฟ้องคดีนั้น นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ ให้สัมภาษณ์แล้วว่าไม่มีความจำเป็นต้องมารายงานตัว อย่างไรก็ตาม ต้องขอดูในหนังสือที่ให้ไปรายงานตัวก่อนว่ามีรายละเอียดอย่างไร และป.ป.ช.ใช้อำนาจอะไร ถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ 
       ด้านนายกิตินันท์ ตอบคำถามกรณีนายกฯ อ้างอิงถึงหนังสือของ อสส.ที่สั่งห้ามน.ส. ยิ่งลักษณ์ ออกนอกประเทศ ว่า หนังสือ ดังกล่าวมาจากสำนักงาน อสส.จริง แต่ไม่ใช่หนังสือสั่งห้ามออกนอกประเทศ เป็นเพียงหนังสือแสดงความคิดเห็น เนื่องจาก คสช. ได้ทำหนังสือขอความเห็นในเรื่องดังกล่าว
       นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ อดีต ส.ส.บัญชี รายชื่อ พรรคเพื่อไทย และเลขาธิการ นปช. โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า เห็นข่าว คสช.ขออย่าเรียกว่า "เผด็จการ" พร้อมอธิบายว่าเรามีทุกอย่างตามแบบประชาธิป ไตย จึงฝากกวีนี้สนับสนุนดังนี้ "อย่าเรียก เราว่าเผด็จการ แค่รัฐประหารเพื่อแก้ไข ประชาธิปไตยแท้แบบไทยไทย รอแม่น้ำ ห้าสายโชว์ลีลา เรามีทั้งสภาคอรอมอ มีแป๊ะคอยค้ำถ่อ ให้เข้าท่า โรดแม็ปย้ำเราจะทำตามสัญญา แค่ปีเดียวถอยไปกว่าห้าสิบปี ไม่ต้องคิดไม่ต้องพูดไม่ต้องยุ่ง เราจะเป็นดาวรุ่งของพรุ่งนี้ ยุติธรรมเลือกข้างเพื่อสามัคคี เหยียบฝ่ายหนึ่งให้ป่นปี้เพื่อปรองดอง"

'สมชาย'ยันไม่ผิดคดีม็อบ 51


เฮฮา - น.ส. ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ ร่วมพบปะกินอาหารกับเพื่อนสมัยอนุบาลโรงเรียนเรยีนา เชลี วิทยาลัย ที่ร้านอาหารภายในศูนย์การ ค้านิ่มซิตี้เดลี่ แยกสนามบิน อ.เมือง จ.เชียงใหม่ เมื่อวันที่ 12 ก.พ.

       สำหรับ กรณีป.ป.ช.เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกฯ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ อดีตรองนายกฯ พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ อดีตผบ.ตร. และพล.ต.ท.สุชาติ เหมือนแก้ว อดีต ผบช.น. กรณีสั่งสลายการชุมนุมกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยเมื่อวันที่ 7 ต.ค. 2551 ต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง และศาลมีคำสั่งประทับรับฟ้องแล้ว ขณะที่ ป.ป.ช.ยังไม่มีมติแจ้งข้อกล่าวหาคดีถอดถอน นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกฯ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกฯ ในคดีสลายม็อบเสื้อแดง ปี 2553 ซึ่งมีผู้เสียชีวิต 99 ศพ ให้เหตุผลว่า ข้อเท็จจริงยังไม่สมบูรณ์พอที่จะวินิจฉัยได้ และยังต้องพิจารณาข้อกฎหมายตามพ.ร.ก. ฉุกเฉินพ.ศ.2548 มาตรา 17 นั้น
       นายสมชาย กล่าวว่า ยืนยันมิได้กระทำผิดใดๆ ตามที่ป.ป.ช.ฟ้องคดี เพราะก่อนหน้า ป.ป.ช.ฟ้องคดี มีการพิสูจน์ความจริงในเรื่องนี้เสร็จสิ้น โดยอสส.มีคำสั่งไม่ฟ้องคดีตนแล้วเมื่อวันที่ 9 ต.ค.2555 และป.ป.ช.เคยยื่นฟ้องถอดถอนตนต่อวุฒิสภา ซึ่งวุฒิสภามีมติไม่ถอดถอนตน เมื่อวันที่ 9 มี.ค.2553 แต่ป.ป.ช.กลับนำเรื่องนี้มาฟ้องคดีที่ศาลอีกครั้ง อีกทั้งในชั้นเจ้าหน้าที่ฝ่ายผู้ปฏิบัติ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ(ตร.)และศาลปกครอง มี คำพิพากษาให้ความเป็นธรรมและคืนความเป็นธรรมให้กับเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติแล้ว ดังนั้น ในฐานะฝ่ายบริหารจึงควรได้รับความเป็นธรรมจากการถูกป.ป.ช.ฟ้องคดีด้วย

มั่นใจศาลให้ความเป็นธรรม
       นายสมชาย กล่าวว่า การที่ศาลมีคำสั่งประทับรับฟ้องและมีคำสั่งนัดพิจารณาครั้งแรก เพื่อสอบคำให้การจำเลยในวันที่ 11 พ.ค.นี้ เวลา 09.30 น.นั้น เป็นไปตามขั้นตอนและกระบวนการปกติในศาล ซึ่งยังมีหลายขั้นตอนในการอำนวยความยุติธรรม อาทิ การแถลงเปิดคดี นัดสืบพยาน และการแถลงปิดคดีของโจทก์และจำเลยก่อนที่ศาลจะมี คำพิพากษาต่อไป ตนในฐานะอดีตผู้พิพากษา มั่นใจว่าศาลยุติธรรมจะพิจารณาคดีของตนโดยปราศจากอคติ ถูกต้องและเที่ยงธรรม แม้ในฐานะอดีตนายกฯจะไม่ได้รับความ เป็นธรรมใดๆ จากป.ป.ช.ก็ตาม แต่เมื่อเรื่องมาถึงศาลแล้ว พร้อมจะเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมและมีพยานหลักฐานยืนยันความบริสุทธิ์ 
       "ขอตั้งข้อสังเกตว่าการที่ ป.ป.ช. มาฟ้องคดีให้ผมต้องรับผิดตามกฎหมายในครั้งนี้ ทั้งที่เรื่องควรจบแล้วนั้น ป.ป.ช.ยึดหลักนิติธรรมในการปฏิบัติหน้าที่หรือไม่ หากเทียบกับคดีสลายการชุมนุมเมื่อปี 2553 ที่มีข้อพิจารณาต่อตัวผู้ถูกกล่าวหาในคดีแตกต่างจากคดีของผม จึงขอให้สังคมช่วยกันตรวจสอบและขอเรียกร้องทุกฝ่ายยุติการชี้นำคดีนี้ ปล่อยให้ศาลพิจารณาและพิพากษาคดีตามขั้นตอนและกระบวนการของกฎหมาย ต่อไป" นายสมชายกล่าว

งมาร์คงสรุปมันต่างกันเยอะ
      ด้านนายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ตนก็ไม่เข้าใจเรื่องนี้ เพราะคดีสลายการชุมนุมปี 53 กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ส่งอสส. ส่งฟ้องศาลไปแล้ว และคดีของตนเหตุเกิดหลังคดีของนายสมชาย 2 ปี ทำไมคดีของตนไปถึงศาลแล้ว แต่ที่อยู่ที่ป.ป.ช.ก็มี ซึ่งต้องให้ ป.ป.ช.เป็นผู้ตอบว่ามันช้า ปัญหาอะไรและถ้าจะเปรียบเทียบเหตุการณ์การใช้อำนาจในปี 2551 กับการใช้อำนาจในปี 2553 สรุปสั้นๆ ว่ามันต่างกันเยอะ 
       นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า การทำงานของปี 2551 ไม่มีขั้นตอนเลย เพราะไม่ได้ประกาศภาวะฉุกเฉิน ไม่ได้ประกาศใช้กฎหมายพิเศษห้ามชุมนุมอะไรต่างๆ ส่วนการทำงานปี 2553 ของตนมีการประกาศภาวะฉุกเฉิน และการชุมนุมเมื่อปี 2551 ยังไม่มีการเอาเรื่องไปศาล แต่ปี 2553 นั้นไปศาลแล้ว โดยศาลชี้ว่าเป็นการชุมนุมที่เกินขอบเขตของรัฐธรรมนูญ และประเด็นถัดมาที่สำคัญมากคือ การจะสลายการชุมนุม เราพูดถึงหลักสากล กรณีปี 2551 ผู้ชุมนุมไม่มีการใช้อาวุธ แต่ในปี 2553 เกิดความสูญเสีย เพราะมีผู้ใช้อาวุธแฝงอยู่กับผู้ชุมนุม รวมถึงขั้นตอน รายละเอียดเกี่ยวกับคำสั่งก็ต่างกัน ส่วนผิดหรือถูกนั้น ก็มีคดีอยู่ที่ศาล ตอนนี้อยู่ในชั้นอุทธรณ์ และมีคดีอยู่ที่ป.ป.ช. ซึ่งป.ป.ช.ต้องดำเนินการต่อไป 

'บิ๊กจิ๋ว'เอาความจริงสู้
        นายชวลิต วิชยสุทธิ์ รักษาการรองเลขาธิการพรรคเพื่อไทย ในฐานะคณะทำงานของ พล.อ.ชวลิตกล่าวถึงแนวทางการต่อสู้คดีว่า ตนในฐานะคณะทำงานของ พล.อ.ชวลิตตั้งแต่สมัยเป็นอดีตรองนายกฯ รู้ว่าพล.อ.ชวลิตไม่ได้สั่งการให้สลายการชุมนุม มีแต่สั่งให้ดูแลประชาชน และการที่ศาลประทับรับฟ้อง พล.อ.ชวลิต บอกให้ เอาความจริงเข้าให้ข้อมูลกับศาล ซึ่งหวังว่าจะได้รับความยุติธรรม และคงไม่ต้องเตรียมอะไรมากเพราะหลักฐานก็มีอยู่ แต่เรื่องผ่านมาหลายปีแล้ว ก็ยังงงๆ ว่ามีเรื่องนี้เกิดขึ้นท่ามกลางสถานการณ์บ้านเมืองที่ต้องการความปรองดอง และที่ผ่านมาอัยการก็มีมติไม่ฟ้อง และสภามีมติไม่ถอดถอนแล้ว นายสมชาย ก็ทำตามหน้าที่ ไม่มีนายกฯคนไหนสั่งการทำร้ายประชาชน 
       นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ สมาชิกสนช. และโฆษกคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการสนช. (วิปสนช.) กล่าวว่า ในกรณีของพล.ต.อ. พัชรวาท ยังสามารถปฏิบัติหน้าที่ สนช. ได้ตามปกติเพราะขณะนี้ไม่ได้ทำหน้าที่ผบ.ตร. ตามที่จุดมุ่งหมายของกฎหมายต้องการไม่ให้จำเลยใช้ตำแหน่งหน้าที่หรือกระทำการ อันใดอันอาจเป็นอุปสรรคในการดำเนินคดี และตำแหน่งของสนช. ก็ไม่สามารถไปก้าวก่ายในคดีดังกล่าวได้ 

ป.ป.ช.ลั่นเปล่ายื้อคดีปี 53 
        นายปานเทพ กล้าณรงค์ราญ ประธานป.ป.ช. กล่าวว่า ยืนยัน ป.ป.ช.ไม่ได้ยื้อ เรื่องนี้ แต่กำลังเร่งทำงาน การวิพากษ์วิจารณ์ ดังกล่าวถือเป็นเรื่องที่สงสัยกันได้ โดยเฉพาะการไต่สวนกรณีสลายการชุมนุมปี 2551 และในปี 2553 มีความช้าเร็วต่างกัน ซึ่งป.ป.ช.กำลังพยายามทำงานเร่งในทุกคดี ไม่ได้เร่งเฉพาะคดีสลายการชุมนุมปี 2551 ตามเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นคดีของฝ่ายตรงข้ามนั้นไม่เป็นความจริง ป.ป.ช.ทำงานตามลำดับข้อมูล หลักฐาน เราต้องดูให้รอบคอบที่สุด ทั้งนี้จะมีการหารือกรณีนี้ในที่ประชุมองค์คณะพนักงานไต่สวนในวันที่ 24 ก.พ. แน่นอน และเชื่อว่าจะสรุปเข้าที่ประชุมกรรมการ ป.ป.ช. ในวันที่ 26 ก.พ.นี้ทันที 
       "โดยเฉพาะคดีสลายการชุมนุมปี 2553 ต้องพิจารณาให้ละเอียด ไม่ว่าจะเป็นคำสั่งศาลเรื่องชันสูตรพลิกศพ และการทำงานของเจ้าหน้าที่ภายใต้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินด้วย จะต้องดูเรื่องการสั่งการเป็นอย่างไร ถูกต้องหรือไม่ มีการแจ้งเตือนก่อนการกระทำหรือไม่ ดูด้วยว่าสถานการณ์ประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินนั้น สอดคล้องหรือเกี่ยวข้องกับกลุ่มผู้ชุมนุม หรือผู้ก่อเหตุอย่างไร ต้องให้ชัดเจน" นายปานเทพกล่าว

สอบไมค์แพงยังไม่คืบ
      นายปานเทพ ยังกล่าวถึงความคืบหน้า การแสวงหาข้อเท็จจริง กรณีสำนักนายกรัฐมนตรี จัดซื้อไมโครโฟน ติดตั้งห้องประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)ว่า เบื้องต้นที่ให้เจ้าหน้าที่ไปแสวงหาข้อเท็จจริงมาพบว่ายังมีความเห็นไม่ตรงกันอยู่ จึงให้ส่งเรื่องไปยังคณะกรรมการกลั่นกรองเพื่อสรุปรายงาน ข้อเท็จจริงได้พิจารณาก่อนในวันที่ 18 ก.พ.นี้ และเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช. ในสัปดาห์ถัดไป 
       ด้านนายสรรเสริญ พลเจียก เลขาธิการป.ป.ช. กล่าวว่า เจ้าหน้าที่ได้แสวงหาข้อเท็จจริงครบถ้วนสมบูรณ์แล้ว แต่ยังมีความเห็นไม่ตรงกันอยู่ ระหว่างฝ่ายเจ้าหน้าที่และฝ่าย ผู้บังคับบัญชา บางฝ่ายมองว่ามีมูล บางฝ่ายมองว่าไม่มีมูล จึงต้องรอข้อสรุปให้ชัดเจนอีกครั้งหนึ่ง จึงจะเสนอเข้าที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช. เป็นผู้ชี้ขาดว่า มีมูลพอที่จะตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวน หรือว่าไม่มีมูลจะได้ตีตกไปได้

พท.คาด'แม้ว'รู้ทันคสช.
       รายงานข่าวจากพรรคเพื่อไทย(พท.) เปิดเผยว่า แกนนำพรรคเพื่อไทยได้ประเมินสถานการณ์การเมืองกันภายในเกี่ยวกับ การดำเนินคดีน.ส.ยิ่งลักษณ์ และนาย สมชาย ว่าเป็นการส่งสัญญาณอย่างชัดเจนจากคสช. ว่าไม่เอาตระกูลชินวัตร ขณะที่พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร จะยังคงนิ่งเงียบต่อไป แม้น.ส. ยิ่งลักษณ์โดนกดดันอย่างหนัก เนื่องจากประเมินว่า คสช.กำลังล่อให้ออกมาเคลื่อน ไหว แล้วผูกปมให้เป็นประเด็นปัญหา เพื่ออยู่ในอำนาจต่อไปนานๆ อีกทั้งประเมินว่าขณะนี้มีคนเคลื่อนไหวกดดันอยู่แล้ว ทั้งสหรัฐ ยูเอ็น สหภาพยุโรป และอีกหลายประเทศ เรียกร้องให้ประเทศไทยกลับคืนสู่ประชาธิปไตยและมีการเลือกตั้ง 
       ส่วนการหาตัวผู้นำพรรคคนใหม่แทนน.ส.ยิ่งลักษณ์นั้น พ.ต.ท.ทักษิณประเมินว่าไม่จำเป็นต้องเลือกในตอนนี้ เพราะเอาใครขึ้นมาก็จะโดนจัดการเหมือนกับนายสมชาย จะรอจนใกล้ถึงเวลาเลือกตั้ง ค่อยเลือกผู้ที่จะมานำพรรคเพื่อไทยต่อไป

สปช.ฉะ'ตู่'ไม่เป็นสุภาพบุรุษ
       ด้านนายอเนก เหล่าธรรมทัศน์ ประธานคณะกรรมการศึกษาแนวทางการสร้างความปรองดอง สปช.กล่าวถึงกรณีที่นายชินวัฒน์ หาบุญพาด อดีตส.ส.พรรคเพื่อไทย เสนอ ให้มีการออกกฎหมายนิรโทษกรรมให้กับ คนผิดทุกคนว่า เรื่องการนิรโทษกรรมเป็นเรื่องของรัฐบาลและคสช.ว่าจะดำเนินการเรื่องนี้หรือไม่ เรามีหน้าที่แค่ศึกษาและเสนอแนะเท่านั้น 
       ส่วนพ.ต.อาณันย์ วัชโรทัย กรรมการศึกษาแนวทางการสร้างความปรองดอง สปช. กล่าวว่าก่อนหน้านี้กมธ.ปรองดองเคยหารือว่าควรนิรโทษกรรมให้ผู้มาร่วมชุมนุมทางการเมือง ไม่รวมคดีทุจริตคอร์รัปชั่น คดีหมิ่นสถาบัน และคดีฆ่าคนตาย แต่จะเหมารวมนิรโทษบรรดาแกนนำหรือไม่ ต้องดูปัจจัยหลายอย่าง เช่น บรรยากาศบ้านเมืองเอื้อต่อการนิรโทษกรรมหรือไม่ ซึ่งกรณีนายจตุพรออกมาบอกว่าหากน.ส.ยิ่งลักษณ์ติดคุกแล้วคุกจะแตกนั้น คำพูดเช่นนี้ไม่สร้างความปรองดอง 
       "ผมเคยอยู่พรรคเพื่อไทยเห็นหมดทุกอย่าง ตอนปี 2557 ที่บรรยากาศทางการเมืองกำลังสุกงอม แกนนำส.ส.พรรคเพื่อไทย บางคนยังบอกว่าทำไมทหารไม่ยึดอำนาจ จัดระเบียบสังคมใหม่ให้จบๆ ไป บ้านเมืองจะได้ไม่มีม็อบ แต่พอทหารออกมาจริง วันนี้กลับมาต่อต้านยุยง ถ้าท่านเป็นสุภาพบุรุษ ทำไมไม่ร่วมมือให้ประเทศเดินได้ มาเเสดงพฤติกรรมแบบนี้สังคมตั้งคำถามว่าต้องการอะไร ซึ่งการมาพูดจาสร้างความไม่ปรองดองแบบนี้ ใครที่ไหนจะให้อภัย หรือนิรโทษกรรมให้" พ.ต.อาณันย์กล่าว

สนช.จำหน่าย 3 คดีถอดถอน
       เมื่อเวลา 10.00 น. ที่รัฐสภา มีการประชุมสนช. มีนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสนช. เป็นประธานการประชุม โดยแจ้งให้ทราบกรณีป.ป.ช.มีมติจำหน่ายคดีออกจากสารบบ 3 คำร้องถอดถอน เนื่องจากการ กล่าวหาว่ามีพฤติการณ์ส่อว่าจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อบทบัญญัติรัฐธรรมนูญปี 2550 เพียงประการเดียว และเมื่อรัฐธรรมนูญปี 2550 สิ้นสุดลงแล้ว จึงไม่มีบทบัญญัติรัฐธรรมนูญที่เป็นมูลฐานพิจารณานำไปสู่การถอดถอนและไต่สวนออกจากตำแหน่งได้ ประกอบด้วย 1.คำร้องขอให้ถอดถอนนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ อดีตประธานสภาผู้แทนราษฎร กรณีกล่าวหามีพฤติการณ์ส่อว่าจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อบทบัญญัติรัฐธรรมนูญปี 2550 
        2.คำร้องขอให้ถอดถอนน.ส.กฤษณา สีหลักษณ์ อดีตรมต.ประจำสำนักนายกฯ นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรมว. คลัง เนื่องจากมีพฤติการณ์ส่อว่าจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ กรณีใช้สถานะหรือตำแหน่งรัฐมนตรีก้าวก่าย หรือแทรกแซงการดำเนินงานของพนักงานบริษัท อสมท จำกัด มหาชน ในการบรรจุแต่งตั้งโยกย้าย โอน เลื่อนตำแหน่งขั้นเงินเดือนของพนักงาน 

เห็นชอบ'บูรณ์'นั่งผู้ตรวจ
      3.ขอให้ถอดถอนนายนคร มาฉิม นายวรงค์ เดชกิจวิกรม นายสาธิต ปิตุเตชะ น.ส.รัชดา ธนาดิเรก นายวิลาศ จันทรพิทักษ์ และนายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ อดีตส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ออกจากตำแหน่ง กรณียื่น ญัตติขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ และขอ เปิดอภิปรายรัฐมนตรีเป็นรายบุคคลตามรัฐธรรมนูญปี 2550 แต่ผู้ถูกกล่าวหากลับอภิปรายนายกฯและรัฐมนตรีบางคนในประเด็นที่ไม่ได้ยื่นคำร้องขอให้ถอดถอนไว้กับป.ป.ช.
      ต่อมาที่ประชุมพิจารณาวาระให้ความเห็นชอบบุคคลผู้ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งผู้ตรวจการแผ่นดิน ตามที่กมธ.สามัญเพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบประวัติ ความประพฤติ และพฤติกรรมทางจริยธรรมของบุคคลผู้ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่ง ผู้ตรวจการแผ่นดิน ตรวจสอบแล้ว โดยเป็นการประชุมลับ ก่อนจะมีมติเห็นชอบ ด้วยคะแนน 143 ต่อ 30 งดออกเสียง 18 ให้นายบูรณ์ ฐาปนดุลย์ ดำรงตำแหน่งผู้ตรวจการแผ่นดิน

กกต.จี้ทบทวนตั้งกจต.
      ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) นายศุภชัย สมเจริญ ประธานกกต. กล่าวว่า ขอเรียกร้องกมธ.ยกร่างทบทวนเนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญที่กำหนดให้มี คณะกรรมการจัดการเลือกตั้ง (กจต.) จัดเลือกตั้งแทนกกต. เพราะหากกำหนดให้มี กจต.ขึ้นในร่างรัฐธรรมนูญจะส่งผลกระทบต่อระยะเวลาจัดการเลือกตั้งปี 2559 และอาจต้องเลือกตั้งในเดือน มิ.ย.2559 เนื่องจาก กกต. จะใช้ 2-3 เดือนร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญขึ้นมาใหม่ โดย กกต.ต้องรอให้รัฐธรรมนูญประกาศใช้อย่างเป็นทางการก่อนจึงจะร่างกฎหมายลูกได้ 
     หากประกาศใช้รัฐธรรมนูญในเดือน ก.ย.นี้ คาดว่าจะร่างกฎหมายลูกเสร็จภายในเดือนธ.ค. จากนั้นจะใช้เวลาอีก 3 เดือน จึงจะจัดเลือกตั้งได้ และหากทำประชามติ ร่างรัฐธรรมนูญก่อนประกาศใช้ ทำให้กรอบเวลายืดออกไปอีกอย่างน้อย 2 เดือน การเลือกจะเกิดขึ้นในเดือน มิ.ย. แต่หากร่างรัฐธรรมนูญใช้โครงสร้างเดิมคือให้ กกต.จัดการเลือกตั้ง จะเลือกตั้งได้ในต้นปี 2559 ตามโรดแม็ปของคสช. เพราะ กกต.จะใช้เวลาไม่มากในการปรับแก้กฎหมายลูก

นายกฯอ้อนปชช.อย่าทิ้งกัน
       เมื่อเวลา 17.00 น. วันที่ 12 ก.พ. ที่บริเวณสะพานอรทัย ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานเปิดตลาดน้ำวิถีไทย คลองผดุงกรุงเกษม โดยรัฐบาลร่วมกับกทม. จัดขึ้นตั้งแต่สะพานอรทัย ถึงเชิงสะพานมัฆวานรังสรรค์ ระหว่างวันที่ 12 ก.พ. - 1 มี.ค. รวม 18 วัน ไม่มีวันหยุด เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยววิถีไทย พัฒนาแหล่งท่องเที่ยวริมคลองผดุงกรุงเกษม 
      พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวเปิดงานว่า วันนี้เป็นวันแห่งประวัติศาสตร์ที่เรามายืนตรงนี้ ถ้าสถานการณ์ไม่สงบเรียบร้อย เราคงมายืนตรงนี้กันไม่ได้ คงชุมนุมเต็มทำเนียบไปหมด เราต้องปรับทุกอย่างไม่ให้เกิดขึ้นอีก สัญญากับตนได้หรือไม่ว่าจะไม่มีการมาชุมนุมรอบทำเนียบอีก ให้มาชุมนุมสนุกสนานแบบนี้ดีกว่า ส่วนวันวาเลนไทน์นี้ ขอร้องว่าวันนี้กล้วยไม้ราคาถูก เอาไปมอบเป็นดอกไม้แทนดอกกุหลาบบ้าง เพราะดอกกุหลาบแพง 
      "ผมบอกแล้วว่า วันสำคัญของผมและภรรยามีทุกวัน ก็บอกรักทุกวันอยู่แล้ว พออยู่ไปนานๆ ก็คุ้นเคยกัน แต่ความรักมีให้คนไทยทุกคน เราต้องมีหัวใจดวงเดียวกัน และที่ผมไปพบผู้นำหลายประเทศ เขาชื่นชมเราว่าบ้านเมืองสงบเรียบร้อย แต่เขาก็ถามว่าจะเลือกตั้งเมื่อไร ผมก็ไม่รู้เหมือนกันก็วางไว้ตามโรดแม็ป อยากให้เป็นเช่นนั้น อยู่ที่พวกเราทุกคน ซึ่งผมพูดทุกวัน เบื่อบ้าง ก็ทนหน่อย ใครบอกไม่อยากฟังผมทุกวันศุกร์ ผมจะได้เลิกพูด น้อยใจ พูดทุกวันตั้งใจพูด บอกไม่ฟัง ลดลงทุกวัน ไม่ฟังผมก็จะพูด มันต้องมีใครชนะกันข้างนึง" พล.อ.ประยุทธ์กล่าว
      จากนั้นนายกฯ เดินชมงาน แต่ระหว่างจะก้าวลงบันไดบริเวณศาลาท่าน้ำ ลงไปยังโป๊ะเพื่อชมเรือสินค้า ปรากฏว่าก้าวพลาดทำให้เกือบล้มหน้าคะมำ เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยรีบเข้าช่วยพยุงนายกฯไว้ได้ทัน
       ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนที่นายกฯจะขึ้นรถกลับ ประชาชนได้ตะโกนกำลังใจนายกฯ ว่า"นายกฯ อย่าทิ้งกัน" พล.อ.ประยุทธ์ หันมาตอบว่า "ประชาชนก็อย่าทิ้งผม ถ้าประชาชนมีความสุข ผมก็มีความสุข แต่ถ้าประชาชนไม่มีความสุข ผมก็ไม่มีความสุข" จากนั้นได้ชูมือเป็นสัญลักษณ์ไอเลิฟยูก่อนขึ้นรถ

รุมค้านแก้ไขพ.ร.บ.ศาลทหาร
     น.ส.ปริญญา บุญฤทธิ์ฤทัยกุล ผู้อำนวยการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) กล่าวถึงกรณีที่โฆษกข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ออกแถลงกาาณ์กังวลกรณีประเทศไทย/การแก้ไขพ.ร.บ.ธรรมนูญศาลทหาร ที่ให้อำนาจทหารฝากขังพลเรือนนานถึง 84 วัน โดยไม่มีองค์คณะตุลาการ ว่า เป็นการเพิ่มอำนาจที่จะนำไปสู่การละเมิดสิทธิประชาชน เมื่อประกอบกับการใช้กฎอัยการศึกก็จะยิ่งเปิดช่องให้ผู้มีอำนาจละเมิดสิทธิมนุษยชนได้มากขึ้น 
      ด้านนางพวงทอง ภวัครพันธุ์ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า เป้าหมายผู้ออกกฎหมายนี้คิดเพียงว่าจะทำอย่างไรให้การใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือที่จะปราบผู้ที่มีความคิดต่างได้อย่างรวดเร็ว โดยขาดการคำนึงถึงแง่มุมว่ากฎหมายก็ต้องพิทักษ์ปกป้องสิทธิประชาชนด้วย 
      น.ส.พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ผู้อำนวยการมูลนิธิผสานวัฒนธรรม กล่าวว่า การเขียนกฎหมายเช่นนี้ควรต้องระบุให้ชัดเจนว่าจะบังคับใช้กฎหมายนี้เฉพาะที่เกิดภาวะสงครามจริงๆ เพราะประเทศไทยตอนนี้ใช้กฎอัยการศึกในทางที่ผิด เอากฎอัยการศึกมาใช้ในภาวะที่ไม่ใช่สงครามจริงๆ 
       นายสุณัย ผาสุข ที่ปรึกษาฮิวแมนไรต์วอตช์ ประจำประเทศไทย กล่าวว่า กรอบสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศระบุว่าพลเรือนไม่ควรถูกนำตัวขึ้นศาลทหารแต่หลังรัฐประหารกลับมีการใช้ศาลทหารกับพลเรือนซึ่งขัดหลักการสากล ทางที่เหมาะสมที่สุดควรยกเลิก การเสนอร่างกฎหมายที่แก้ไขดังกล่าว

 

เมินมะกันจี้คืน'ปชต.' บิ๊กตู่ไม่สน ยัน'ปู'ต้องอยู่ในไทย ชงเซ็นสัญญาสงบศึก ผวาหลังเลือกตั้งป่วน สมชายซัดปปช.เอียง ยื้อ"คดีมาร์ค"ลุยม็อบ ปัดยิ่งลักษณ์ขอลี้ภัย

 

ดับลือ - น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ พบปะกับเพื่อนสมัยเรียนอนุบาล โรงเรียนเรยีนาเชลีวิทยาลัย ที่ศูนย์การค้านิ่มซิตี้ ร้านโวคาโน อ.เมืองเชียงใหม่ ท่ามกลางกระแสข่าวขอลี้ภัยที่สถานกงสุลสหรัฐอเมริกา จ.เชียงใหม่ เมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์

 

'บิ๊กตู่'ไม่สนใจ'มะกัน'ท้วงติง ยันเดินตามโรดแมป ย้ำเดินหน้าเลือกตั้งต้นปี"59 บอกเบื่อหน่ายขัดแย้งไม่กลับมาอีก

@ "บิ๊กตู่"ไม่สน"มะกัน"ท้วงติง

      เมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวถึงกรณีรัฐบาลสหรัฐแสดงความกังวลต่อบทสัมภาษณ์ของ พล.อ.ประยุทธ์ กับสื่อญี่ปุ่น ที่ระบุว่าหากบ้านเมืองเกิดความไม่เรียบร้อย ทหารจะกลับมาอีก ว่า "ชี้แจงหมดทุกอย่าง ชี้แจงไปหมดแล้ว ไม่ต้องกังวล ส่วนที่สหรัฐไม่เข้าใจก็เป็นเรื่องของเขา เมื่อไม่เข้าใจก็ เป็นเรื่องของท่าน ผมไม่ไปทะเลาะกับท่านอยู่แล้ว ที่ผ่านมาก็อธิบายจนไม่รู้ว่าจะอธิบายอย่างไรแล้ว โรดแมปก็คือโรดแมป ผมวางไว้ว่าปี 58 แล้วขณะนี้ผมผิดจากปี 58 ตรงไหน เพราะนี่ยังไม่จบปี 58 เลย แล้วมาเร่งรัดตอนนี้มันคงไม่ใช่ วันนี้เรากำลังเดินไปสู่จุดตรงนั้น สิ่งที่ผมบอกและอธิบายคือไม่ได้อยู่ที่ผมหรือ คสช.หรือรัฐบาลวันนี้ แต่อยู่ที่ประชาชนคนไทยทั้งประเทศและต่างประเทศก็ต้องเข้าใจ ให้โอกาสประเทศไทยเดินหน้าประเทศให้มีอนาคตอย่างยั่งยืน และติดต่อการค้ากันโดยสงบ มีเสถียรภาพ ไม่มีความขัดแย้งทางการเมือง การเมืองถือว่าสำคัญที่สุด ผมก็กังวลว่าระหว่างที่เราเดินหน้าในเรื่องรัฐธรรมนูญอยู่นั้น ถ้ารัฐธรรมนูญไม่ออกมาแล้วจะเป็นอย่างไร ผมไปบังคับเขาไม่ได้ เพราะมอบหมายให้คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญเป็นคนทำ ก็ขอให้เขียนออกมา ผมมีหน้าที่อย่างเดียว ขอให้ออกมาให้ทัน ไม่ทะเลาะเบาะแวง ถ้ารัฐธรรมนูญออกมาได้แล้วมีการโปรดเกล้าฯ จะมีอะไร วันนี้ขอให้ตกลงกันให้ได้ ข้อสำคัญคนที่เกี่ยวข้องกับความขัดแย้งต้องออกมาแสดงความคิดเห็นตรงนั้น แล้วเอาตัวตนออกมาว่าจะเดินหน้าประเทศอีกสัก 4 ปีได้หรือไม่ รัฐบาลหน้าจะอยู่อย่างไร ต้องยอมรับในความเห็นต่างกันและเดินหน้าประเทศไปสัก 4 ปี ผมไม่เกี่ยวแล้ว เพราะเป็นการเลือกตั้ง"

@ ย้ำเดินหน้าเลือกตั้งต้นปี 59 

     พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ถ้ารัฐธรรมนูญออกมาได้ เดินหน้าระหว่างนั้นทำกฎหมายลูกได้ บอกว่าให้ร่างกฎหมายลูกที่จำเป็นบางเรื่องจะได้มีความรวดเร็ว ถ้ากฎหมายลูกเสร็จภายในสิ้นปีทุกอย่างก็จบ แล้วก็เตรียมการเลือกตั้งประมาณต้นปี 2559 อยากให้มีการเลือกตั้งโดยเร็ว ขอร้องว่าทุกคนอย่าขัดแย้งกันอีก ตนไม่ได้เป็นคู่ขัดแย้งกับใคร มีหน้าที่รักษากฎหมายและกติกาของประเทศ ดังนั้น ไม่สามารถไปไล่ล่าใครข้างใดข้างหนึ่งได้ สื่อต้องช่วย เรื่องบางเรื่องอย่าไปประโคมข่าวมากนัก 

      "สิ่งที่ผมกังวลขณะนี้คือ หากเกิดเหตุความไม่สงบหรือเกิดอันตรายกับใครขึ้นมาสักข้างหนึ่ง ใครจะมารับผิดชอบจะกลับมาที่รัฐบาล ไม่ว่าจะเป็นพวกไหนก็ตามก็ต้องดูแล อาจจะมากบ้างน้อยบ้างก็ขออย่าเอาเรื่องความขัดแย้งมาปนกันตรงนี้ ยืนยันว่าให้ความเป็นธรรมกับทุกคน" พล.อ.ประยุทธ์กล่าว 

@ ชี้"ปู"ต้องอยู่ในประเทศ 

      พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า วันนี้เรื่องของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี อยู่ในกระบวนการยุติธรรม บางครั้งอยากให้ทุกอย่างสงบบ้าง น.ส.ยิ่งลักษณ์จะไปกินก๋วยเตี๋ยวหรือไปไหนก็ปล่อยให้ไป เมื่อไหร่ที่ไม่ให้ไป ไม่ให้กิน ก็กินไม่ได้ ถ้าถูกก็กลับมาเป็นรัฐบาล จะไปอะไรได้ ผู้สื่อข่าวถามว่า แสดงว่า ณ เวลานี้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ควรอยู่ในประเทศไทยใช่หรือไม่ นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ไม่รู้ ก็ต้องไปดูขั้นตอนต่างๆ ทางอัยการสูงสุดได้ชี้แจงมาแล้วว่าระหว่างการเตรียมการเรื่องสำนวนควรจะอยู่ในประเทศไทย ดังนั้นควรจะอยู่หรือไม่ และเมื่อคิดว่าตนเองถูกต้องก็ต้องอยู่ภายใต้กติกา 

      "น.ส.ยิ่งลักษณ์เคยบอกกับผมแล้วว่าท่านพร้อมสู้ทุกอย่าง ท่านก็สู้ ซึ่งผมก็บอกไปว่าให้ดูแลท่านให้ดี อย่าให้ท่านเป็นอะไรขึ้นมา เพราะเดี๋ยวไม่รู้ว่าใครเป็นคนทำก็เดือดร้อนผมอีก ก็ต้องดูแล ดังนั้น หนักนิดเบาหน่อยก็ขออภัยกันเท่านั้นเอง ผมเดินทางไปทุกประเทศก็บอกว่าผมไม่ได้ไปทำร้ายใคร ทุกอย่างอยู่ในกระบวนการยุติธรรม ใครที่ทำผิดกฎหมายชัดเจนก็ต้องถูกดำเนินคดี ลงโทษไม่ได้เลือกฝ่าย หากมีหลักฐานมากก็ทำได้ก่อน ถ้าหลักฐานน้อยก็ต้องสอบต่อไป ไม่เคยไปเข้าข้างใคร" พล.อ.ประยุทธ์กล่าว

@ อ้างให้เกียรติมาโดยตลอด

      เมื่อถามว่าฝ่ายความมั่นคงมีการประเมินหรือไม่ว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์จะเดินไปสุดทางการต่อสู้หรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ไม่ทราบ แต่เห็นว่ามีการชี้แจงสู่สาธารณะ โดยนายนรวิชญ์ หล้าแหล่ง ทนายความ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ได้ชี้แจงแทนมาแล้ว เท่าที่ฟังว่าจะสู้คดีจนถึงสุดท้าย ไม่หนี ไม่ไปไหน ซึ่งนายนรวิชญ์ก็ต้องรับผิดชอบ เมื่อถามว่าระหว่างนี้ฝ่ายความมั่นคงจะดูแลอดีตนายกรัฐมนตรีและให้เกียรติใช่หรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ที่ผ่านมาให้เกียรติมาตลอด เจ้าหน้าที่ไม่เคยไปละเมิดสิทธิส่วนบุคคล 

      เมื่อถามว่า พล.อ.ประยุทธ์ต้องการให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์เลือกหนทางใดในการต่อสู้ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ไม่รู้ไม่ทราบ เลือกหนทางที่เป็นไปตามกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม ทุกอย่างขอให้ยึดกฎหมาย อย่าใช้คำว่าสู้ เพราะตอนนี้เรื่องอยู่ในกระบวนการยุติธรรมแล้วที่พร้อมให้ความเป็นธรรมและชอบธรรม มีหลักฐานไปแถลงกันในศาล ตนไม่ใช่ศาล ไปตัดสินไม่ได้

@ คู่ขัดแย้งเซ็นสัญญาสงบศึก

       เมื่อถามว่า ดูเหมือนขณะนี้มีเจ้าหน้าที่คอยติดตามความเคลื่อนไหวของอดีตนายกฯตลอดเวลา พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า "เป็นเรื่องปกติ และเรื่องการค้นรถก็ไม่ได้ค้นทุกตารางนิ้ว ที่มีเจ้าหน้าที่ทหารติดตามความเคลื่อนไหวนั้น ผมไม่รู้ แต่เป็นเรื่องของเขาที่ต้องดูแล เจ้าหน้าที่ก็ดูแลทุกคนที่อันตราย ทุกคนร้องกันเข้ามาว่าไม่มีอิสระ มีตำรวจ มีทหาร แต่เจ้าหน้าที่เขาต้องดูแลความปลอดภัย ดีกว่าไม่มีคนดูมั้ง ผมว่าไปไหนก็จะรู้สึกปลอดภัย สบายใจ อย่าไปให้ความสำคัญกับเรื่องเหล่านี้มาก ทุกอย่างอยู่ในกระบวนการอยู่แล้ว ต่อไปผมจะไม่ตอบเรื่องพวกนี้อีกแล้ว"

       "ที่ผมพูดว่าหากบ้านเมืองไม่สงบทหารก็จะกลับเข้ามานั้น ก็เป็นเพราะว่าจะมีใครรับประกันกับผมได้หรือไม่ ว่าจะเชิญคนเหล่านี้ที่เป็นคู่ขัดแย้งมาเซ็นสัญญาสงบศึกกันได้ไหมว่าจะไม่มีความขัดแย้งเกิดขึ้นอีก ก่อนการเลือกตั้งครั้งนี้ ส่วนรัฐธรรมนูญคงจะไม่มีใครเห็นด้วยทั้งหมดก็เป็นเรื่องธรรมดา จากนั้นจัดการเลือกตั้งให้จบด้วยหลักธรรมาภิบาลและรับประกันว่าจะปฏิรูปอย่างไร ไปทำสัญญากันมาว่าจะไม่มีการประท้วงและมีความรุนแรงเกิดขึ้นมาอีก การประท้วงประชาธิปไตยห้ามกันไม่ได้อยู่แล้ว ประชาชนทำได้ตามสิทธิถ้าไม่เกิดเหตุการณ์รุนแรง เพราะเรายังมีกฎอัยการศึกอยู่ ไม่เช่นนั้นผมคงแก้อะไรไม่ได้ แต่วันนี้ก็มัวมาสาละวนกับเรื่องคุณยิ่งลักษณ์" พล.อ.ประยุทธ์กล่าว

@ บอกเบื่อหน่ายไม่กลับมาอีก

      เมื่อถามย้ำว่า เป็นไปได้หรือว่าถ้าร่างรัฐธรรมนูญเสร็จแล้วจะให้ทุกฝ่ายมาลงสัตยาบันต่อหน้านายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า "ไม่ใช่เรื่องของผม สื่อก็อยากแต่ให้ผมใช้อำนาจ แต่พอใช้ก็กล่าวหาว่าละเมิดสิทธิมนุษยชน จะเอาอะไรก็เอาให้แน่สักอย่าง อย่ามาไล่ผมแบบนี้ สื่อก็ต้องช่วยกันสร้างสภาวะแวดล้อมให้เกิดบรรยากาศความร่วมมือ ไม่ใช่มาโยนให้ผมใช้อำนาจ เดี๋ยวก็มาว่ากันอีกว่าไม่เป็นประชาธิปไตย วันนี้อำนาจที่มีอยู่ก็เพื่อให้เกิดความสงบ ถ้าทุกอย่างมีความสงบเรียบร้อย ไม่มีการคัดค้าน ไม่มีระเบิด อาวุธสงคราม ใครจะอยากใช้อำนาจ วันนี้ใครไม่มีเรื่องก็จะไปกลัวโดนอะไร จะไปกลัวอะไรกันหนักหนา ผมควรจะกลัวมากกว่า เพราะเป็นคนใช้อำนาจ" เมื่อถามย้ำว่า อนาคตหากรัฐบาลบริหารประเทศไม่ได้ มีความขัดแย้ง ทหารจะกลับเข้ามาอีกใช่หรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า "ก็ช่วยกันสิ อย่าให้มันมี อย่ามาถามผมวันข้างหน้าผมไม่รู้ เพราะผมส่งให้ท่านแล้ว ท่านบอกให้ผมเดินตามโรดแมปให้มีการเลือกตั้ง ผมก็ส่งไม้ต่อให้มีการเลือกตั้ง ถ้าขัดแย้งกันอีกก็เป็นสิ่งที่พวกท่านทำให้เกิดขึ้นมาเองทั้งหมด ผมไม่รู้แล้ว ผมหยุดเพื่อให้ที่ผ่านมาเกิดความสงบ ผมทำแล้ว แต่ถ้ายังเกิดความไม่สงบ จะกลับมาโทษผมอีกมันไม่ถูก หน้าที่ของผมคือจัดการเลือกตั้งให้ได้ แต่พอเลือกตั้งเสร็จแล้วตีกันอีก รัฐบาลก็แก้ปัญหากันมา แก้ให้ได้ก็แล้วกัน ถ้าเลือกตั้งแล้วตีกันอีก ผมก็ไม่รู้แล้ว ผมไม่เอาแล้ว เบื่อ เหนื่อย ผมจะไปพักผ่อนแล้ว วันนี้ทุกคนก็น่าจะได้เรียนรู้จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ถ้าบอกว่ายังไม่รู้ก็อยู่อย่างนี้กันต่อไป อยู่บนความขัดแย้ง แต่ผมไม่อยู่ด้วยแล้ว คุณจะขัดแย้ง ทะเลาะกันต่อไป ผมไม่เอาด้วยแล้ว พอสักทีเถอะ"

@ "ไก่อู"ซัด"ตู่"รับความจริง

พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวกรณีนายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธาน นปช. ระบุหาก น.ส.ยิ่งลักษณ์ถูกดำเนินคดีคนเสื้อแดงจะออกมาต่อต้านถือเป็นการปลุกระดมหรือไม่ ว่า สามารถมองได้หลายแบบ แต่หากไม่เอามาเป็นสาระของชีวิตถือว่าเป็นเรื่องที่ใครก็พูดไป เพราะโดยส่วนตัวนายจตุพรเป็นคนพูดเก่งอยู่แล้ว ในฐานะรัฐบาลสามารถรับฟังได้ แต่โดยข้อเท็จจริงแล้วสังคมต้องมองว่า ถ้าคนใดทำความผิดจริงและกระบวนการยุติธรรมนำไปสู่การพิพากษา ถ้าไม่ได้กระทำผิดศาลคงไม่พิพากษา ไม่ใช่ว่าคนใดคนหนึ่งทำความผิดแล้วประเทศไทยจะอยู่ไม่ได้ เพียงแต่ว่าบุคคลเหล่านั้นจะยอมรับความจริงได้มากแค่ไหน 

@ ปัด"ปู"ขอลี้ภัยการเมือง

พล.ต.สรรเสริญกล่าวกรณีที่โฆษกกระทรวงต่างประเทศสหรัฐระบุว่า รัฐบาลไทยต้องการควบคุมอำนาจอีกครั้งในอนาคตว่า สิ่งที่นายกฯสื่อออกมาเพราะไม่ต้องการให้เกิดความขัดแย้งอีก ทุกฝ่ายในประเทศต้องช่วยกันประคองให้โรดแมปที่ คสช.และรัฐบาลกำหนดเดินหน้าไปได้ เมื่อถามว่า ไทยจะทำหนังสือชี้แจงไปยังสหรัฐหรือไม่ รองโฆษกรัฐบาลกล่าวว่า ยังไม่ได้ตรวจสอบไปยังกระทรวงการต่างประเทศ แต่ที่สำคัญคือต้องทำความเข้าใจกับคนในประเทศ เมื่อถามถึงกระแสข่าวว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์จะขอลี้ภัยทางการเมือง พล.ต.สรรเสริญกล่าวว่า เท่าที่ตรวจสอบข้อมูลพบว่าอดีตนายกฯยังพักอยู่ที่บ้านพักในจังหวัดเชียงใหม่ ไม่ได้ลี้ภัยตามที่เป็นข่าว 

@ "มาร์ค"อัดพท.เบี่ยงคดีการเมือง

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ให้สัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ในรายการ 101 องศาข่าวว่า ตามหลักกฎหมาย น.ส.ยิ่งลักษณ์มีสิทธิในการที่จะเดินทางออกนอกประเทศ แต่เนื่องจากเป็นสถานการณ์ไม่ปกติ การจะห้ามต้องใช้อำนาจพิเศษเป็นเรื่องของกฎอัยการศึกจึงเป็นการตัดสินใจของ คสช. เมื่อถามว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์จะขอลี้ภัยไปสหรัฐ นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า มองว่าเป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์ของพรรคเพื่อไทย ที่พยายามต่อสู้ว่าคดีที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องของการเมืองเพราะการจะขอลี้ภัยได้ต้องเป็นเรื่องที่เป็นการถูกกลั่นแกล้งทางการเมือง

@ "สมชาย"โวยปล่อยข่าวลี้ภัย 

       นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เพียงข่าวมั่วๆ ที่ไม่สร้างสรรค์ ตนได้พูดคุยกับ น.ส.ยิ่งลักษณ์แล้ว ยืนยันว่าไม่คิดจะหลบหนีหรือลี้ภัยไปที่ไหนอย่างแน่นอน และพร้อมต่อสู้คดี ขณะนี้ทางทีมทนายความเตรียมข้อมูลกันอย่างเต็มที่ 

      "ยังงงๆ กันว่าใครปล่อยข่าวว่าท่านจะลี้ภัย ขณะนี้สถานการณ์บ้านเมืองสลับซับซ้อน ลึกลับไปหมด ระวังกันแทบไม่ไหว ขณะนี้ท่านกำลังใจดีมาก" นายสมชายกล่าว

@ สะพัดต้นตอข่าว"ปู"ลี้ภัย 

    ผู้สื่อข่าวรายงานว่า มีการเผยแพร่ข้อความที่มีการระบุว่าเป็นข้อความที่มาจากหน่วยงานความมั่นคง รายงานผู้บังคับบัญชาถึงกรณีการค้นขบวนรถ น.ส.ยิ่งลักษณ์ว่า เนื่องจากมีรายงานว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ได้เข้าขอความช่วยเหลือสถานกงสุลสหรัฐอเมริกาในการลี้ภัยการเมืองที่ จ.เชียงใหม่ เพื่อเตรียมจะลี้ภัย บินออกนอกประเทศ จากการเผยแพร่ข้อความดังกล่าวจึงเป็นที่มาของข่าวที่มีการระบุว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ขอลี้ภัย 

@ อสส.ยัน 19 ก.พ.ส่งฟ้อง"ปู"แน่

      ที่สำนักงานอัยการสูงสุด นายนรวิชญ์ หล้าแหล่ง ทีมทนายความ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เดินทางเข้ายื่นหนังสือขอความเป็นธรรมต่ออัยการสูงสุดเพื่อให้ทบทวนการสั่งฟ้องในคดีทุจริตโครงการรับจำนำข้าว โดยมีนายกิตินันท์ ธัชประมุข รองอธิบดีอัยการสำนักงานการสอบสวน เป็นตัวแทนผู้รับหนังสือ

      นายนรวิชญ์ กล่าวว่า หนังสือร้องขอความเป็นธรรมมี 2 ประเด็นสำคัญ คือ 1.ต้องการให้ทบทวนการสั่งฟ้องของอัยการสูงสุด และ 2.อัยการสูงสุดได้ชี้ข้อไม่สมบูรณ์รวมหลายประเด็น สำหรับการยื่นหนังสือขอความเป็นธรรมครั้งนี้ถือเป็นครั้งที่ 6 แล้ว 

      นายกิตินันท์ ในฐานะคณะทำงานร่างคำฟ้องคดีโครงการรับจำนำข้าว กล่าวว่า ในวันที่ 19 กุมภาพันธ์นี้ จะมีการยื่นฟ้อง น.ส.ยิ่งลักษณ์ต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองอย่างแน่นอน แม้ น.ส.ยิ่งลักษณ์จะไม่เดินทางมาตามที่ ป.ป.ช.นัดหมายก็ตาม เมื่อถามว่า คสช.ระบุว่าอัยการสูงสุดทำหนังสือไม่ให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์เดินทางออกนอกประเทศ นายกิตินันท์กล่าวว่า หนังสือออกจากทางอัยการสูงสุดจริง แต่ทาง คสช.ได้มาหารือว่าควรให้เดินทางออกไปต่างประเทศหรือไม่ ซึ่งอัยการสูงสุดได้ทำหนังสือตอบกลับไปแล้ว 

@'บุญทรง'ยันสู้คดีไม่คิดหนี

     นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวกรณีมีกระแสข่าว น.ส.ยิ่งลักษณ์ เตรียมขอลี้ภัยทางการเมืองกรณีคดีทุจริตโครงการรับจำนำข้าว ว่า ไม่เป็นความจริง เป็นข่าวมั่ว เชื่อว่าปล่อยมาจากฝั่งตรงข้ามที่พยายามไล่ล่า กดดัน เพื่อทำลายความน่าเชื่อถือ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ถือเป็นการรังแกและทำลายอย่างน่าเกลียด น.ส.

       ยิ่งลักษณ์ ไม่หนีไปไหน หากกระบวนการตัดสินให้ความยุติธรรม ไม่ลำเอียง พร้อมต่อสู้คดีถึงที่สุด เมื่อถามถึงเรื่องที่ ป.ป.ช.เตรียมส่งเรื่องให้อัยการสูงสุดฟ้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองคดีทุจริตรับจำนำข้าวในวันที่ 16 กุมภาพันธ์ นายบุญทรงกล่าวว่า ไม่หนักใจ พร้อมชี้แจงข้อเท็จจริงตามพยานหลักฐาน และสู้คดีถึงที่สุด โดยไม่หลบหนีหรือขอลี้ภัยไปต่างประเทศ เพราะเชื่อมั่นในความบริสุทธิ์ 

        นายยศชนัน วงศ์สวัสดิ์ อดีต ส.ส.เชียงใหม่ เขต 3 พรรคเพื่อไทย บุตรชายนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกรัฐมนตรี และนางเยาวภา กล่าวว่า ขณะนี้สอนหนังสืออยู่ที่ประเทศญี่ปุ่น ไม่ได้หนีและลี้ภัยต่างประเทศตามที่เป็นข่าว พร้อมกล่าว "ขอบคุณที่เป็นห่วง" 

@ "สมหมาย"ชี้ปิดบัญชีข้าวไม่ได้ 

     นายสมหมาย ภาษี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า กำลังตรวจสอบความเสียหายจากโครงการรับจำนำว่ามีเท่าใด แต่ปัญหาในขณะนี้คือข้าวยังขายไม่หมด 

     ดังนั้น จะสรุปความเสียหายได้ยาก ข้าวสารในสต๊อกมีกว่า 17 ล้านตัน เป็นข้าวคุณภาพดีเพียงแค่ 2.5 ล้านตัน ที่เหลือเป็นข้าวที่เสื่อมคุณภาพเกือบทั้งหมด ทำให้ประเมินราคาขายได้ลำบากว่าจะได้เท่าใด

       นายรังสรรค์ ศรีวรศาสตร์ ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวว่า จะนัดประชุมคณะทำงานปิดบัญชีโครงการจำนำข้าวของรัฐบาลชุดก่อนเพื่อปิดบัญชีโครงการในรอบบัญชีปี 2557 หรือนับตั้งแต่เริ่มต้นโครงการในปี 2547 ถึง สิ้นเดือนกันยายน 2557 หลังจากนั้นในเดือนมีนาคม 2558 นำข้อมูลเข้าประชุมคณะอนุกรรมการปิดบัญชีโครงการ เพื่อสรุปผลการปิดบัญชีโครงการฯ ก่อนรายงานผลการปิดบัญชีให้คณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว (นบข.) 

@ "สมชาย"โวยป.ป.ช.ไม่เป็นธรรม 

      นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกรัฐมนตรี กล่าวกรณีที่ศาลฎีกามีคำสั่งประทับรับฟ้องคดีที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ฟ้องคดีสลายการชุมนุมกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เมื่อปี 2551 ว่า ในฐานะอดีตนายกรัฐมนตรีมั่นใจในความบริสุทธิ์ต่อเรื่องที่ถูกกล่าวหาว่า ในครั้งที่ตนปฏิบัติหน้าที่นายกฯได้ปฏิบัติหน้าที่โดยชอบและสุจริตตามอำนาจหน้าที่ของนายกฯที่พึงปฏิบัติ และยืนยันว่ามิได้กระทำผิดใดๆ ตามที่ ป.ป.ช.ฟ้องคดีเอากับตน เพราะก่อนหน้า ป.ป.ช. ฟ้องคดีได้มีการพิสูจน์ความจริงในเรื่องนี้เสร็จสิ้น โดยอัยการสูงสุดมีคำสั่งไม่ฟ้องคดีแล้วเมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2555 จนถึงบัดนี้รวมเวลา 2 ปีเศษ และ ป.ป.ช.เคยยื่นฟ้องถอดถอนต่อวุฒิสภา ซึ่งวุฒิสภาได้มีมติไม่ถอดถอนเมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2553 นับจนถึงบัดนี้เป็นเวลา 5 ปีเศษ แต่ ป.ป.ช.กลับนำเรื่องที่อัยการสั่งไม่ฟ้องและวุฒิสภามีมติไม่ถอดถอนมาฟ้องคดีที่ศาลอีกครั้ง ในฐานะที่ตนเป็นฝ่ายบริหารจึงควรจะได้รับความเป็นธรรมจากการที่ถูก ป.ป.ช.ฟ้องคดีในครั้งนี้ด้วย 

@ มั่นใจศาลปราศจากอคติ

      นายสมชาย กล่าวว่า ตนในฐานะอดีตผู้พิพากษา มีความมั่นใจว่าศาลยุติธรรมจะได้พิจารณาคดีของตนโดยปราศจากอคติ และเป็นไปโดยถูกต้องและเที่ยงธรรม แม้ตลอดมาในฐานะที่เป็นอดีตนายกรัฐมนตรีจะไม่ได้รับความเป็นธรรมใดๆ จากคณะกรรมการ ป.ป.ช.ก็ตาม แต่เมื่อเรื่องมาถึงศาลแล้ว พร้อมจะเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมและมีพยานหลักฐานที่จะยืนยันความบริสุทธิ์ ขอตั้งข้อสังเกตว่าการที่ ป.ป.ช. มาฟ้องคดี หากเทียบกับคดีที่มีการสลายการชุมนุมเมื่อปี พ.ศ.2553 ที่มีข้อพิจารณาต่อตัวผู้ถูกกล่าวหาในคดีแตกต่างจากคดีของตนจึงขอให้สังคมได้โปรดช่วยกันตรวจสอบ ขอเรียกร้องทุกฝ่ายยุติการชี้นำคดีนี้ปล่อยให้ศาลพิจารณาและพิพากษาคดีไปตามขั้นตอนและกระบวนการของกฎหมายต่อไป

@ "เด็กบิ๊กจิ๋ว"พบพิรุธ 2 ข้อ

    นายชวลิต วิชยสุทธิ์ ในฐานะคณะทำงานของ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ อดีตรองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า อันดับแรกต้องดูก่อนว่าศาลได้ประทับรับฟ้องแล้วจริงหรือไม่ ซึ่งหากมีการประทับรับฟ้องแล้วทางคณะทำงานคงต้องไปถ่ายคำฟ้องและเอกสารที่เกี่ยวข้องมาศึกษา เรื่องนี้มีข้อสังเกตอยู่ 2 ประการ คือ 1.ที่ว่ามีหลักฐานแน่นหนามาจากทางคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) อยากให้ดูว่า กสม.มีมาตรฐานมากน้อยเพียงใด เพราะรู้ว่ามีการร้องจากพรรคการเมืองพรรคหนึ่ง ซึ่ง กสม.ก็รีบรับมาดำเนินการในทันที ลองเปรียบเทียบกับการร้องเรียนในคดีปี"53 หรือกรณีอื่นๆ ก็ตามแต่ จะเรียกๆ ได้ว่า ไล่ล่าอีกฝ่ายหนึ่ง แต่ฝ่ายหนึ่งกลับอุ้มชู แล้วอย่างนี้จะไปใช้หลักฐานของ กสม.ได้อย่างไร 2.คนที่ทำเรื่องปรองดองมาตลอดชีวิตอย่าง พล.อ.ชวลิต คนที่แก้ปัญหาสงครามกลางเมืองที่มีคนตายมากมาย คนที่ดูแลเรื่องอย่างนี้กลับจะมาโดนเรื่องแบบนี้เสียเองได้อย่างไร พล.อ.ชวลิตบอกให้เอาความจริงเข้าให้ข้อมูลกับศาล หวังว่าจะได้รับความยุติธรรม

@ เผย"พัชรวาท"ไม่หลุดสนช.

      นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และโฆษกวิป สนช. กล่าวกรณี พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ สนช. และอดีต ผบ.ตร.ต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ สนช. หลังศาลฎีกาแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองรับฟ้องในเหตุการณ์สลายการชุมนุม ว่า พล.ต.อ.พัชรวาทยังสามารถปฏิบัติหน้าที่ สนช.ได้ตามปกติ เพราะขณะนี้ไม่ได้ทำหน้าที่ ผบ.ตร.ตามที่จุดมุ่งหมายของกฎหมายต้องการไม่ให้ จำเลยใช้ตำแหน่งหน้าที่หรือกระทำการอันใดอันอาจเป็นอุปสรรคในการดำเนินคดี และตำแหน่งของ สนช. ไม่สามารถไปก้าวก่ายในคดีดังกล่าวได้

@ "มาร์ค"แจงสลายชุมนุมปี 53

     นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ถ้าจะเปรียบเทียบเหตุการณ์การใช้อำนาจในปี"51 กับการใช้อำนาจในปี"53 สรุปสั้นๆ ว่าต่างกันเยอะ เพราะการทำงานของปี"51 ไม่มีขั้นตอนเลย เพราะไม่ได้ประกาศภาวะฉุกเฉินไม่ได้มีการประกาศใช้กฎหมายพิเศษห้ามชุมนุม ส่วนการทำงานปี"53 มีการประกาศภาวะฉุกเฉิน และการชุมนุมเมื่อปี"51 ยังไม่มีการเอาเรื่องไปศาล แต่การชุมนุมปี"53 นั้นไปศาลและชี้แล้วว่าเป็นการชุมนุมที่เกินขอบเขตของรัฐธรรมนูญ และประเด็นถัดมาที่สำคัญมากคือ การจะสลายการชุมนุม รัฐบาลขณะนั้นพูดถึงหลักสากลกรณีปี"51 ผู้ชุมนุมไม่มีการใช้อาวุธ แต่ในปี"53 ปัญหาที่เกิดขึ้นจนเกิดความสูญเสียเพราะมีผู้ใช้อาวุธแฝงอยู่กับผู้ชุมนุมเพราะฉะนั้นเป็นเรื่องที่ต่างกัน 

@ คดีสลายม็อบปี 53 ถก 24 กพ.

     นายปานเทพ กล้าณรงค์ราญ ประธานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กล่าวว่า กรณีที่มีเสียงวิจารณ์ ป.ป.ช. พิจารณาคดีถอดถอนนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรีกรณีสั่งสลายการชุมนุมทางการเมืองปี 2553 ล่าช้าว่า ไม่ได้ยื้อเรื่องนี้ แต่กำลังเร่งทำงาน การวิพากษ์วิจารณ์ถือเป็นเรื่องที่สงสัยกันได้ กำลังพยายามทำงานเร่งในทุกคดี ไม่ได้เร่งเฉพาะคดีสลายการชุมนุมปี 2551 ป.ป.ช.ทำงานตามลำดับข้อมูล หลักฐาน ดูให้รอบคอบที่สุด ทั้งนี้จะมีการหารือกรณีนี้ในที่ประชุมองค์คณะพนักงานไต่สวนในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ อย่างแน่นอน และเชื่อว่าจะสรุปเข้าที่ประชุมกรรมการ ป.ป.ช. ในวันที่ 26 กุมภาพันธ์ทันที

@ กกต.วอนยกร่างฯทบทวน 

       นายศุภชัย สมเจริญ ประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กล่าวว่า อยากเรียกร้องให้คณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ ทบทวนเนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญที่กำหนดให้มีคณะกรรมการดำเนินการจัดการเลือกตั้ง (กจต.) ขึ้นมาจัดเลือกตั้งแทน กกต. เพราะจะส่งผลกระทบต่อระยะเวลาในการจัดการเลือกตั้งปี 2559 แน่นอน หากใช้โครงสร้างเดิม กกต.จัดการเลือกตั้งได้ในต้นปี 2559 ตามโรดแมป คสช. ขอยืนยันว่าการออกมาท้วงติงเรื่องนี้ไม่ใช่เพราะหวงอำนาจ

 

คุ้มครองหรือควบคุม

 

บทนำมติชน

     ความรู้สึกปลอดภัยเป็นความต้องการขั้นพื้นฐานของมนุษย์ รัฐจึงมีหน้าที่ต้องคุ้มครองให้ผู้ที่อาศัยอยู่ในรัฐรู้สึกปลอดภัย ด้วยเหตุนี้จึงต้องมีตำรวจคอยทำหน้าที่เป็นผู้พิทักษ์สันติราษฎร์ มีทหารคอยทำหน้าที่เป็นรั้วของชาติ มีกระบวนการยุติธรรมที่คอยถ่วงดุลความถูกผิดในสังคม มีการอนุญาตให้ได้รับสิทธิพิเศษในการครอบครองและพกพาอาวุธ ขณะเดียวกันก็มีระบบป้องกันมิให้มีการใช้อาวุธเกินเลยกว่าหน้าที่ เช่น มีการฝึก มีกฎระเบียบ มีการตรวจสอบถ่วงดุล และอื่นๆ ทุกอย่างที่ทำก็เพื่อตอบสนองความต้องการขั้นพื้นฐานของมนุษย์นั่นคือทำให้มนุษย์รู้สึกว่าปลอดภัย

      ความรู้สึกปลอดภัยหรือไม่จึงเป็นความรู้สึกของผู้ที่ตกอยู่ในสถานการณ์ เช่น คนกรุงเทพฯอาจรู้สึกปลอดภัยในขณะนี้มากกว่าปี 2556-2557 หรือคนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้อาจจะรู้สึกเฉยๆ เมื่อเทียบกับคนนอกพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่รู้สึกไม่ปลอดภัยหากต้องลงไปทำธุระในพื้นที่นั้น หรือชาวต่างประเทศที่ต้องการเดินทางมาท่องเที่ยวในประเทศไทย ก็ต้องรับฟังข่าวสารว่าประเทศไทยมีความปลอดภัยมากน้อยแค่ไหน เพราะทุกคนที่มาเที่ยวก็ต้องการเที่ยวอย่างสบายใจ

      กรณีการคุ้มครอง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีก็เช่นกัน แม้การตั้งด่านตรวจค้นจะเป็นเรื่องปกติ หรือการส่งเจ้าหน้าที่ติดตามจะสืบเนื่องจากความหวังดี หรือเป็นเจตนารมณ์ที่ต้องการให้ความคุ้มครองเพราะหวั่นเกิดเหตุมือที่สามเข้าแทรกแซง แต่ทุกอย่างต้องขึ้นอยู่กับความรู้สึกของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ว่าต้องการให้มีกำลังเจ้าหน้าที่และด่านสกัดเช่นนั้นหรือไม่ น.ส.ยิ่งลักษณ์รู้สึกปลอดภัยจากการดำเนินการดังกล่าวมากน้อยเพียงใด 

      หากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. มีเจตนารักษาความปลอดภัยให้อดีตนายกรัฐมนตรี ไม่ได้มีความคิดควบคุมหรือคุกคามแต่อย่างใด การสอบถามความสมัครใจจาก น.ส.ยิ่งลักษณ์ตรงๆ น่าจะเป็นหนทางตรวจสอบความรู้สึกปลอดภัยหรือไม่ปลอดภัยจาก น.ส.ยิ่งลักษณ์ได้ดีที่สุด และความรู้สึกปลอดภัยหรือไม่จะเกี่ยวโยงกับการตีความการกระทำของเจ้าหน้าที่ว่า สิ่งที่ทำไปนั้นเพื่อคุ้มครองหรือเพื่อการควบคุมกันแน่