วันที่ 07 ธันวาคม พ.ศ. 2557 ปีที่ 24 ฉบับที่ 8775 ข่าวสดรายวัน


'บิ๊กตู่'เปรียบไทย เสือย่อตัว ก่อนจะทะยาน 
ขอโอกาสคสช.-รัฐบาลแก้ปัญหา ชงอีกเลือกนายก-ยุบปาร์ตี้ลิสต์ ตาแม้ว-ยายปูเห่อหลานคนใหม่'พินทองทา'คลอดลูกสาวฝาแฝด
      'นายกฯบิ๊กตู่'เปรียบไทยเหมือนเสือกำลังย่อตัวพร้อมทะยาน ออกจอคืนความสุขมุ่งแก้ไขปมขัดแย้ง ปราบคอร์รัปชั่นฟันตัวใหญ่ ย้ำ 5 สายจับมือบูรณาการร่วมกันลั่นรัฐบาล-คสช.ไม่ยอมแพ้ เร่งปรับปรุงพ.ร.บ. การชุมนุมให้คุ้มครองดูแลทุกฝ่าย กมธ.ปฏิรูปการเมืองชงเลือกนายกฯ-ครม.โดยตรง ยุบส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ ปชป.โดดขวางทันควันลั่นอย่าถอยหลังเข้าคลอง เลิกให้หน่วยงานรัฐตั้งองค์กรอิสระหวั่นบุญคุณ 'โภคิน' ตอบรับเข้าพบกมธ.ร่วมเสนอแนะยกร่างรธน. 12 ธ.ค.นี้'คุณตาแม้ว-ยายปู'ปลื้ม'เอม'พินทองทา คลอดหลานสาวฝาแฝด'น้าอุ๊งอิ๊ง'เผยพ่อทักษิณโพสต์อวยพรพี่สาวก่อนให้กำเนิดทายาท อดีตนายกฯปูควงไปป์เที่ยวแม่สาย นักท่องเที่ยวแห่ถ่ายรูปคึกคัก เผยเตรียมเข้าเยี่ยม'หลานยาย' ทันทีหลังกลับเข้ากรุง


นายกฯตู่ออกจอ'คืนความสุข'
     เมื่อเวลา 08.00 น. วันที่ 6 ธ.ค. พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวในรายการ 'คืนความสุขให้คนในชาติ'ถึงการเดินหน้าปฏิรูปประเทศไทยว่ามีประเทศหนึ่งในอาเซียนเคยยิ่งใหญ่ เจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว แต่วันนี้ต้องประสบภาวะเสื่อมถอยในช่วง 3 ทศวรรษที่ผ่านมา เนื่องจากการดำเนินนโยบายของรัฐที่ผิดพลาด 3 ประการนำไปสู่ภาวะล้มเหลว คือ หนึ่ง ขาดธรรมาภิบาล เล่นพรรคเล่นพวก ขาดสมรรถนะในการบริหารประเทศ สนใจเฉพาะนโยบายที่สร้างคะแนนนิยม ไม่เอาจริงเอาจังกับการวางรากฐานอนาคต ทำให้ขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศเสื่อมถอย เศรษฐกิจหดตัว คนตกงาน เงินเฟ้อ การกู้ยืมเงินไปทำโครงการสำคัญไม่สามารถทำได้ ไม่สร้างรายได้ให้ประชาชน สอง การทุจริตคอร์รัปชั่นในทุกระดับ ไม่เว้นแม้แต่ในกระบวนการยุติธรรม ทำให้กลายเป็นประเทศที่ไม่ได้รับความน่าเชื่อถือจากนักธุรกิจ นักลงทุนจากทั้งในประเทศและนานาชาติ สาม การปฏิรูปประเทศขาดความจริงใจ จริงจัง ทำให้ประเทศติดกับดักถาวร สถานการณ์ทุกมิติไม่ได้รับการแก้ไข พัฒนา ทุกอย่างเหมือนเดิมหรือกลับเลวร้าย กว่าเดิม ทำให้ประเทศล้มเหลว วันนี้ก็ต้องมาแก้ไขกันอีก

เปรียบไทยเป็นเสือพร้อมทะยาน
     "สำหรับประเทศไทยปัญหายังไม่ถึงขั้นนั้น แต่ต้องรีบหยุดให้ได้เพราะมีบางอย่างคล้ายคลึง แม้บางอย่างไม่ร้ายแรงเท่าแต่เรื่องที่เป็นปัญหาคือเรื่องทุจริตผิดกฎหมาย ถ้าปล่อยปละละเลยกันต่อไป ไม่วางยุทธศาสตร์ ให้ชัดเจน ประชาชนยังไม่เข้าใจระบอบประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ เราก็จะเป็นแบบประเทศเหล่านั้นคือไม่ได้รับความเชื่อถือ วันนี้ถ้าเราไม่ทำให้ทุกอย่างมั่นคงแข็งแรงจะเกิดสุญญากาศแห่งอำนาจใหม่ในการบริหารประเทศ จะไม่มีหัวหน้ารัฐบาลที่มีอำนาจเต็มในการแก้ไขความขัดแย้งทางการเมือง" นายกรัฐมนตรีกล่าว และว่าปัญหาเศรษฐกิจเป็นภัย 2 ด้านที่วันนี้ คสช.และรัฐบาลหลังจากมาควบคุมก็ดูแลแก้ไขปัญหามาอย่างต่อเนื่องเพื่อทำให้เกิดเสถียรภาพ วันนี้เราเหมือนเสือที่กำลังย่อตัวอยู่ พร้อมจะทะยานออกต่อไปในอนาคต 

ลั่นฟันตัวใหญ่ขจัดคอร์รัปชั่น
      นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ทุกคนต้องคิดว่าทำอย่างไรถึงจะก้าวไปสู่อนาคต หลีกเลี่ยงความผิดพลาดบทเรียน 3 ประการ โดย 1.การปฏิรูปต้องรอบคอบ มีธรรมาภิบาล คำนึงถึงความยั่งยืน ลดความขัดแย้ง อย่าเอาประเทศไปเสี่ยงภัย 2.ต้องแก้ปัญหาคอร์รัปชั่น อย่าสมยอมกัน ต้องทำให้ทุกคนอยู่ภายใต้กฎหมายเดียวกัน ไม่เล่นพรรคเล่นพวก เอาจริงเอาจัง ซึ่งตนพยายามเต็มที่แต่ก็ยังมีข่าวเสมอ หากตรวจสอบพบต้องลงโทษทันที "ผมตีเส้นว่าตั้งแต่วันที่ 22 พ.ค.ที่เข้ามาจะต้องกระทำผิดอีกไม่ได้ ถ้าทำผิดต้องมาเข้าสู่กระบวนการ เราคงใช้ศาลประชาชนไม่ได้ ต้องเป็นเรื่องของกระบวนการยุติธรรม ถ้าเราดำเนินการกับตัวการใหญ่ได้จะไม่เกิดการเอาเยี่ยงอย่าง ต้องดำเนินการให้เกิดความเกรงกลัว จะได้มีจิตสำนึก ละอายในการกระทำผิด บางคนโกงแล้วโกงอีก แล้วมาสู้กันตามกฎหมายตามหลักนิติธรรมหาหลักฐานมาต่อสู้ บางครั้งก็ชนะ แล้วก็ทำผิดใหม่อีก อย่างนี้ไม่ได้ สังคมต้องปฏิเสธคนเหล่านี้"นายกรัฐมนตรีกล่าว 

ย้ำ 5 สายจับมือบูรณาการร่วมกัน
     พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า บทเรียนที่สามที่เราจะปฏิรูปสำคัญที่สุด คือ 5 สาย หรือ 5 ฝ่าย ที่เราทำไว้แล้วปัจจุบัน ครม. คสช. สปช. สนช. และคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ขอให้ทั้ง 5 ส่วนบูรณาการกันให้ดี อย่าสร้างปัญหาใหม่ ทำอะไรหรือร่างอะไรออกมาต้องได้รับการยอมรับ หาทางลงเอยกัน เป็นที่พอใจทุกฝ่าย ตามใจตัวเองทั้งหมดไม่ได้ "เดี๋ยวพอเราเลือกตั้งจะเลือกตั้งกันอย่างไร กระบวนการเลือกตั้งจะเป็นแบบไหน ใครจะเข้ามา ใครจะเป็นรัฐบาล ใครจะเป็นนายกฯ การบริหารราชการแผ่นดิน การถ่วงดุล 3 อำนาจ ภายใต้พระมหากษัตริย์ อำนาจของพระมหากษัตริย์ในปัจจุบัน ซึ่งเป็นรัฐธรรมนูญของเราอยู่แล้วในระบอบนี้ ก็ต้องมาหารือกัน การใช้จ่ายงบประมาณแผ่นดินต้องมีการตรวจสอบถ่วงดุล ที่สำคัญที่สุดคือการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน" พล.อ.ประยุทธ์กล่าว 

เปิดรับความเห็นนิสิตนักศึกษา
      นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ปัจจัยเสริมอีก 2 ประการสู่ความสำเร็จในการปฏิรูปประเทศ 1. ก้าวข้ามความขัดแย้ง แสวงหาจุดร่วมและการปรองดอง โดยต้องเริ่มที่ใจก่อน "ใครมาบังคับท่านไม่ได้ ถ้าใจท่านไม่ปรองดอง ผมอยากให้ใช้วันที่ 5 ธันวาคมซึ่งเป็นวันพระราชสมภพของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเป็นต้นไป สร้างความปรองดองกัน แล้วหาจุดตรงกลางออกมาให้ได้ว่าเราจะทำอย่างไรให้ประเทศเดินไปข้างหน้า ใช้เวลาเท่าไร เลือกตั้งไปแล้วจะต้องปฏิรูปต่อไปอย่างไร 2. สร้างความตื่นตัวของประชาชน ผมดีใจที่ขณะนี้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วม มีการสื่อสารเข้ามาทั้ง 11 กลุ่ม ส่งข้อมูลเข้ามาทั้งที่สภาปฏิรูปแห่งชาติและรัฐบาล ผมสั่งการให้ไปตามเก็บข้อมูลข้อเสนอแนะต่างๆ ทั้งจากนักวิชาการ นิสิต นักศึกษา และเอามาอ่านดู ก็ถือว่าดีเป็นความคิดของคนรุ่นใหม่ แต่ต้องมาปรับกันบ้าง วันนี้ขอร้องอย่างเดียวว่าถ้าเรายังขัดแย้งหรือต่อต้านกัน ประชาธิปไตยก็ไปไม่ได้ แต่ถ้าเราไม่ต่อต้าน ไม่ขัดแย้งกัน พูดคุยด้วยหัวใจดีๆ ยอมรับในหลักการซึ่งกันและกัน ภายใต้การปรองดองด้วยหัวใจของพวกเราทุกคน ไม่มาต่อสู้กันอีก ไม่เอาความขัดแย้งมาเกิดขึ้นอีก ไม่ใช้การเมืองมานำประชาชนเป็นพวกเป็นฝ่าย คิดว่าบ้านเราก็จะไม่เกิดวิกฤตอีกต่อไป"

ลั่นรัฐบาล-คสช.ไม่ยอมแพ้
      "รัฐบาลปัจจุบัน และ คสช. ไม่ยอมแพ้ ยังมีพลังอยู่ ยังมีกำลังใจดำเนินการต่อไปให้ได้ เพื่อก้าวให้พ้นกับดักที่มีอยู่ให้ได้ ช่วงเวลานี้เป็นเวลาสำคัญที่จะให้คนไทยทุกคนได้ปฏิรูปในทุกมิติ โดยแบ่งการปฏิรูปเป็น 3 ระดับ คือ เร่งด่วน 1 ปี แล้วส่งต่อๆ ไป อาจต้องมีองค์กรดูแลเรื่องนี้ มีกฎหมาย วันนี้คงเป็นเพียงหลักการ ในสภาปฏิรูปแห่งชาติ ในคณะกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญ สนช. เขาเก่งอยู่แล้วทุกคน เป็นผู้แทนมาจากหลายส่วน เพียงขอความร่วมมือจากประชาชนไว้วางใจพวกเรา คสช. และรัฐบาลในทุกเรื่อง เราทำเยอะมาก บางครั้งอาจยังไม่มีผล เพราะอยู่ในขั้นตอนโพรเซส เรื่องมันเยอะจะทำหรือสั่งอะไรไม่ใช่สั่งปากเปล่า จึงอาจไม่ทันใจ แต่อยากให้ไปดูว่าเราทำอะไรไปแล้วบ้าง มีทั้งเรื่องเร่งด่วน ทำทันที มีผลสัมฤทธิ์ แล้วก็เตรียมส่งต่อ" พล.อ.ประยุทธ์กล่าว

เร่งปรับปรุงพ.ร.บ.การชุมนุม
     นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงพ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะด้วยว่า ขณะนี้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) นำกลับไปปรับปรุงแก้ไข และส่งมาให้สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีพิจารณาตรวจสอบอีกครั้ง เพื่อนำส่งให้คณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจสอบแก้ไข ที่ผ่านมามีการเตรียมเสนอไปแล้ว แต่ไม่ทันเพราะร้างเอาไว้ตั้งแต่ 3 ปีที่ผ่านมาเพื่อจะแก้ไขปัญหาการชุมนุม แต่ขณะนี้การชุมนุมเปลี่ยนรูปแบบ เราต้องพัฒนาให้ตรงตามรูปแบบเหล่านั้น ต้องขอร้องทุกรัฐบาลว่า ความมุ่งหมายของพ.ร.บ. ฉบับนี้เพื่อดูแลทั้งผู้ชุมนุม ประชาชนที่อาจได้รับผลกระทบจากการชุมนุม รวมทั้งการคุ้มครองสถานที่ราชการ อย่าคิดว่าเราทำเพื่อรัฐบาลปัจจุบัน แต่เราทำเพื่อทุกรัฐบาลในอนาคต ใช้มาตรฐานเดียวกับกฎหมายต่างประเทศ ระมัดระวังไม่ให้เกิดปัญหาด้านสิทธิมนุษยชน โดยจะกำหนดรูปแบบการชุมนุม เช่น การชุมนุมของผู้ใช้แรงงาน การชุมนุมทางการเมือง การชุมนุมเรียกร้องให้รัฐบาลช่วยเหลือ ขณะเดียวกันก็คุ้มครองเจ้าหน้าที่ในการบังคับใช้กฎหมายและการปฏิบัติงานตามหน้าที่ด้วย


เที่ยวดอย - น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ ใช้ช่วงเวลาวันหยุดพาน้องไปป์ ด.ช.ศุภเสกข์ อมรฉัตร บุตรชาย ไปพักผ่อนและเยี่ยมชมโครงการดอยตุง จ.เชียงราย โดยมีประชาชนมาให้กำลังใจและขอถ่ายรูปเป็นที่ระลึกจำนวนมาก เมื่อวันที่ 6 ธ.ค.

แก้ระบบราชการอืด-สกัดใต้โต๊ะ

    "รัฐบาลไม่ต้องการใช้ความรุนแรง เจ้าหน้าที่ก็ลำบากใจ แต่จะไม่ทำก็ไม่ได้ เพราะเป็นหน้าที่ เป็นกฎหมาย พอทำแล้วก็ไม่อยากใช้ความรุนแรง ไม่ต้องการใช้อาวุธ ต้องระมัดระวังสำหรับผู้ที่ชุมนุมแล้วเอาอาวุธมาด้วย ยังมีหลายคดีอยู่ในศาล ต่อไปต้องไม่มี ต้องไม่เกิดขึ้น เห็นใจเจ้าหน้าที่บ้าง เขาลำบาก ไม่ทำก็ไม่ได้ ถูกสั่งมาก็ต้องปฏิบัติ เมื่อมีการใช้อาวุธจะทำอย่างไร เจ้าหน้าที่จะป้องกันตัวเองได้อย่างไร ให้ปลอดภัย ขอให้ช่วยกันคิดและเสนอเข้าไปในสนช."พล.อ.ประยุทธ์กล่าว
        พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวต่ออีกว่ารัฐบาลได้แก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าและการพัฒนาเพื่ออนาคต เช่น การกำหนดมาตรการอำนวยความสะดวกในการให้บริการภาครัฐ และลดการทุจริต ที่ผ่านมาภาคเอกชนต้องเจอกับขั้นตอนและความล่าช้า จุกจิก บางส่วนเกิดการทุจริตฉกฉวยประโยชน์ เรียกค่าตอบแทน จากนี้ไปเราต้องอำนวยความสะดวกให้รวดเร็ว ตรวจสอบความโปร่งใส ไม่ต้องการให้มีการจ่ายเงินใต้โต๊ะ ปิดช่องทางฉ้อฉลต่างๆ ให้ได้ วันนี้รัฐบาลได้ริเริ่ม และร่างพ.ร.บ.การอำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตของทางราชการ กําหนดให้คณะรัฐมนตรีออกพระราชกฤษฎีกาเพื่อจัดตั้งศูนย์รับคําขออนุญาต ซึ่งเป็นหน่วยงานใหม่ เป็นตัวกลางระหว่างประชาชน ผู้ขออนุญาต กับหน่วยงานรัฐ เป็นผู้พิจารณาอนุญาตในเรื่องต่างๆ จะออกแบบให้เป็นหน่วยที่อํานวยความสะดวกและเร็วยิ่งขึ้นในลักษณะวันสต๊อปเซอร์วิส ยกเว้นรัฐสภา คณะรัฐมนตรี การพิจารณาคดีของศาล การดำเนินคดีทางอาญา และการขออนุญาตตามกฎหมายทรัพยากรธรรมชาติ ซึ่งต้องยื่นเรื่องกับหน่วยงานที่รับผิดชอบเรื่องนั้นๆ โดยตรง

อนุกมธ.หนุนหลักสูตรพลเมือง
    นายมานิจ สุขสมจิตร ประธานคณะอนุกรรมาธิการพิจารณากรอบการจัดทำรัฐธรรม นูญ คณะที่ 1 ว่าด้วยความเป็นพลเมืองและสิทธิพลเมือง ในกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรม นูญ กล่าวว่า ขณะนี้กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญเห็นชอบในบทบัญญัติที่เกี่ยวกับความเป็นพลเมืองและสิทธิพลเมือง ที่ระบุ ว่าให้รัฐมีหน้าที่สร้างพลเมืองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขให้เป็นพลเมืองที่มีคุณภาพรู้เท่าทันสื่อ เลือกที่จะเชื่อหรือไม่เชื่อ พึ่งตนเองได้ เคารพหลักความเสมอภาค เคารพความแตกต่าง มีวินัย เคารพสิทธิของผู้อื่น เคารพกติกา ยึดมั่นในความถูกต้องชอบธรรม ตระหนักในหน้าที่ รับผิดชอบต่อสังคมและส่วนรวม ทั้งนี้รัฐจะต้องให้การศึกษาเรื่องพลเมืองด้วยการกำหนดไว้เป็นส่วนหนึ่งของหลักสูตรในสถานศึกษาทุกระดับทั้งในระบบและนอกระบบรวมทั้ง ผู้ที่พ้นวัยศึกษาไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ในหมวดว่าด้วยแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ กลไกที่จะกำกับให้การดำเนินงานของรัฐเป็นไปตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญจะอยู่ในกฎหมายหลายฉบับที่เกี่ยวข้อง ในเบื้องต้นหน่วยงานหลักที่ต้องเป็นฝ่ายปฏิบัติ คือ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ที่ต้องกำหนดโครงการดำเนินงานที่เกี่ยวข้อง และกระทรวงศึกษาธิการที่ต้องกำหนดหลักสูตรที่สอด คล้องกับรัฐธรรมนูญ

พอใจเยาวชนร่วมแสดงความเห็น
      ด้านนายมีชัย วีระไวทยะ ในฐานะประธานคณะอนุกรรมาธิการขับเคลื่อนเยาวชนเพื่อการปฏิรูปประเทศไทยและจัดทำรัฐธรรมนูญเพื่ออนาคตที่ดีกว่า ในกรรมาธิ การยกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวว่ากลุ่มเยาวชนตอบรับโดยแสดงความคิดเห็นด้านการปฏิรูปและยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เป็นอย่างดี โดยกลุ่มเยาวชนส่งจดหมายผ่านตู้ ป.ณ.111 ปณฝ.รัฐสภา และอีเมล์เข้ามาจำนวนมาก โดยเยาวชนส่วนใหญ่ให้ความสำคัญในเรื่องการป้องกันและปราบปรามการทุจริต รวมถึงการเมืองและการศึกษา กรรมาธิการจะนำมาแยกประเภทเพื่อจัดการปฏิรูปให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อเยาวชนรุ่นต่อๆ ไป ขั้นตอนต่อไปอนุกรรมาธิการเตรียมเสนอตั้งองค์กรอิสระหรือหน่วยงานภายใต้สถาบันพระปกเกล้า เพื่อให้เยาวชนร่วมขับเคลื่อนประเด็นที่เกี่ยวกับบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ รวมถึงสร้างเครือข่ายในสถาบันการศึกษาเพื่อทำงานหลังจากที่รัฐธรรมนูญฉบับใหม่มีผลบังคับใช้

เปิดเวทีฟังเสียง 10 จุดทั่วปท.
       นายมีชัย กล่าวอีกว่า อนุกรรมาธิการเตรียมจัดเวทีรับฟังความเห็นเยาวชน 10 จุดทั่วประเทศเร็วๆ นี้ แบ่งออกเป็นภาค ภาคเหนือตอนบนที่จ.เชียงใหม่ ภาคเหนือตอนล่างจ.พิษณุ โลก ภาคอีสานจ.ขอนแก่น โดยจะแจ้งให้ทราบอีกครั้งในส่วนของภาคอื่น ในแต่ละเวทีรับฟังความคิดเห็นจะใช้เยาวชนระดับมัธยมศึกษาปีที่ 1-6 จำนวน 60 คน แบ่งเป็นชาย 30 คน หญิง 30 คน ขณะเดียวกันยังขอความร่วมมือไปยังกระทรวงศึกษาธิการประสานสถานศึกษาต่างๆ รวบรวมความเห็นของนักเรียนส่งกลับมาที่คณะกรรมาธิการด้วย 

กมธ.การเมืองชงเลือกตรงนายกฯ
     นายประสาร มฤคพิทักษ์ สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ด้านการเมือง ในฐานะโฆษกคณะกรรมาธิการปฏิรูปการเมือง กล่าวว่า กรรมาธิการปฏิรูปการเมืองสรุปข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะเสร็จเรียบร้อยแล้ว โดยจะส่งไปยังคณะกรรมาธิการวิสามัญติดตามให้ข้อเสนอแนะการยกร่างรัฐธรรม นูญในวันที่ 9 ธ.ค. โดยในวันที่ 8 ธ.ค. กรรมาธิการปฏิรูปการเมืองจะประชุมเพื่อลงมติรับรองข้อเสนอดังกล่าวอีกครั้งสำหรับประเด็นสำคัญที่กรรมาธิการเห็นตรงกัน คือ การเลือกนายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยตรง ซึ่งจะให้ผู้ที่สมัครเป็นรัฐบาลเสนอรายชื่อบุคคลที่จะเป็นนายกฯ เพื่อให้ประชาชนเลือก โดยการเลือกตั้งจะมีทั้งบัตรเลือกตั้งส.ส. และบัตรเลือกตั้งครม. ส่วนการเลือกส.ส.ให้มีส.ส. 350 คน โดยไม่มีส.ส. บัญชีรายชื่อ และให้มาจากการเลือกตั้งทั้งหมดแบบแบ่งเขตไม่เกินเขตละ 3 คน เพื่อลดอิทธิพลและการซื้อสิทธิขายเสียง ส่วนการเลือกส.ว.นั้น ให้มาจากการเลือกตั้ง 77 คน และมาจากกลุ่มอาชีพหรือองค์กรที่จัดตั้งตามกฎหมาย อาทิ แพทยสภา สภาทนายความ อีก 77 คน รวมเป็น 154 คน

ปชป.โดดขวางแนะใช้ระบบเดิม
      นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีที่คณะปฏิรูปการเมืองมีข้อสรุปเสนอให้มีการเลือกนายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรีโดยตรงจากประชาชนว่า อยากถามคนที่คิดข้อเสนอนี้ ในโลกนี้ประเทศที่มีการปกครองระบบรัฐสภา นายกฯ มาจากการเลือกโดยตรงไม่มี ประเทศ ไทยเราไม่เก่งและฉลาดพอที่จะใช้ระบบดังกล่าว หากประเทศไทยใช้ระบบนี้ก็จะใช้เพียงประเทศเดียวในโลก ควรกลับไปใช้ระบบรัฐสภาแบบเดิม การที่คณะกรรมาธิการและคณะอนุกรรมาธิการหลายคณะให้ข้อเสนอต่างๆ ว่าจะใช้ระบบนั้นระบบนี้เป็นความคิดที่ขัดแย้งกันเอง พอเป็นแบบนี้จุดอ่อนคือผู้ร่างข้อเสนอสับสนทางความคิดและความคิดเห็นไม่ตกผลึก ทำให้ประชาชนไม่ไว้ใจรัฐธรรม นูญฉบับนี้ว่าเป็นฉบับที่ดีที่สุด ตนกล้าเดิมพันว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่ผ่านประชามติเพราะประชาชนไม่ไว้ใจ 


ฝาแฝด - ครอบครัวชินวัตร เข้าเยี่ยม"เอม"พินทองทา คุณากรวงศ์ บุตรคนรองของพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ คลอดลูกสาวฝาแฝด ที่โรงพยาบาลพระราม 9 กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 6 ธ.ค.

อย่าเดินถอยหลังเลิกปาร์ตี้ลิสต์

      ส่วนข้อเสนอที่ไม่ให้มีส.ส.บัญชีรายชื่อนั้น นายนิพิฏฐ์กล่าวว่า ถ้าคิดแบบนี้วิธีคิดของกรรมาธิการก็ไม่ตกผลึก และไม่ดูว่าปัญหาของระบบการเมืองเกิดขึ้นจากอะไร ส.ส.บัญชีรายชื่อไม่เป็นอุปสรรคต่อการปฏิรูปการเมือง การที่พรรคการเมืองต้องมีส.ส.บัญชีรายชื่อเพราะต้องการความหลากหลาย รวมถึงบุคคลที่มีความรู้ความสามารถในด้านต่างๆ ถ้ายกเลิกจะเป็นการปฏิรูปการเมืองที่ถอยหลังไม่ก้าวหน้า และหากไม่มีระบบบัญชีรายชื่อการเมืองก็ไม่ก้าวหน้าไปไกล "เราควรต้องมีระบบบัญชีรายชื่อ การเมืองเรามาไกลและก้าวหน้าไปมากเกินกว่าจะเดินถอยหลังแล้ว ส่วนการเลือกส.ส. แบบแบ่งเขตไม่เกินเขตละ 3 คนนั้น เห็นว่าควรเป็นระบบแบ่งเขตเรียงเบอร์ คือ ประชาชนมีสิทธิเลือกได้ 3 คนที่มาจากพรรคเดียวกัน หรือเลือก 3 คนแต่มาจากพรรคอื่นก็ได้" รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์กล่าว

สกัดหน่วยรัฐตั้งองค์กรอิสระ
      ด้านนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงข้อเสนอของคณะกรรมาธิการที่ให้ลดวาระการดำรงตำแหน่งของคณะกรรมการในองค์กรอิสระจาก 9 ปี เหลือ 5 ปี ว่า ต้องไปดูเหตุผลว่าข้อเสนอในแต่ละช่วงเวลานั้นเป็นอย่างไร มีที่มาที่ไปอย่างไร เพราะการกำหนดวาระองค์กรอิสระเดิมคือ 9 ปีนั้นเขาจำกัดให้มีเพียงวาระเดียว โดยการทำหน้าที่ไม่ต้องกังวลว่าจะมีวาระที่สองต่อไปอีกหรือไม่ หากจะลดวาระการดำรงตำแหน่งของกรรมการในองค์กรอิสระ ทั้งคณะกรรมการป้องกันการปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และศาลรัฐธรรมนูญ เหลือ 5 ปีแล้วจะให้เขาอยู่กันกี่วาระ
     นายจุรินทร์ กล่าวต่อว่า การออกแบบองค์กรอิสระมีหัวใจสำคัญคือการให้องค์กรอิสระทำหน้าที่เป็นอิสระ โดยเฉพาะในการตัดสินคดีต่างๆ ต้องตรงไปตรงมา ยึดหลักนิติธรรม เพราะที่ผ่านมาตั้งแต่ปี 2540 การสรรหาองค์กรอิสระให้ฝ่ายการเมืองที่เป็นผู้มีอำนาจรัฐ อำนาจบริหาร เป็นคณะกรรมการสรรหาผู้ที่จะเข้ามาทำหน้าที่กรรมการองค์กรอิสระ จึงเกิดการแทรกแซง บางคนติดหนี้บุญคุณฝ่ายการเมืองที่สรรหาเข้ามา ในยุคนั้นมีความพยายามที่จะบิดเบือนโดยเอาอำนาจมาชี้เป็นชี้ตายว่าใครมีสิทธิจะได้รับเป็นกรรมการสรรหาในองค์กรอิสระบ้าง สุดท้ายเป็นปัญหาว่าองค์กรอิสระทั้งหลายก็ทำงานอย่างไม่เป็นอิสระ เพราะต้องมาชดใช้หนี้บุญคุณทางการเมือง ทำให้กระบวนการยุติธรรมถูกบิดเบือน เพราะฉะนั้นที่มาขององค์กรอิสระจึงไม่ควรให้ผู้ที่จะใช้อำนาจรัฐเข้ามาสรรหาหรือเกี่ยวข้อง
     ต่อข้อถามถึงข้อเสนอในการลงมติของกรรมการในองค์กรอิสระที่ห้ามงดออกเสียงเพื่อให้ชี้ขาดการลงมติ นายจุรินทร์กล่าวว่า ต้องดูเป็นรายกรณีว่าจะใช้กับกรณีใดบ้าง หรือห้ามงดออกเสียงทุกกรณี ต้องถามผู้เสนอเรื่องนี้ว่าเหตุผลที่ห้ามงดออกเสียงคืออะไร

ป.ป.ช.ชี้วาระ 9 ปีเพื่องานต่อเนื่อง
       นายปานเทพ กล้าณรงค์ราญ ประธานคณะกรรมการป.ป.ช. กล่าวถึงกรณีที่พรรค การเมืองเสนอให้ลดวาระองค์กรอิสระ โดยให้กรรมการป.ป.ช.มีวาระอยู่ในตำแหน่งจาก 9 ปี เป็น 5 ปี ว่า โดยความคิดเห็นส่วนตัวการ กำหนดให้ป.ป.ช.มีวาระการทำงาน 9 ปีมาแต่แรกนั้นคงดูในแง่ความต่อเนื่องในการทำงานที่แต่ละคดีต้องใช้ระยะเวลาพิจารณานาน และต้องละเอียดรอบคอบ ความต่อเนื่องจึงเป็นเรื่องสำคัญ ส่วนการเสนอให้ป.ป.ช.อยู่ในวาระ 5 ปีนั้น เป็นข้อเสนอแนะของ สปช. ขึ้นอยู่กับ สปช.ที่จะส่งข้อเสนอไปยังคณะกรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญเพื่อพิจารณาความเหมาะสมต่อไป ตนคิดว่าหากให้กรรมการป.ป.ช.อยู่ในวาระ 5 ปี เมื่ออยู่ครบเทอมหรือหมดวาระแล้วให้สามารถกลับเข้ามาสมัครรับการสรรหาได้อีกครั้ง ขึ้นอยู่กับคณะกรรมการสรรหาจะพิจารณาคัดเลือกเพื่อให้การทำงานต่อเนื่อง

โภคินตอบรับเข้าพบกมธ.ยกร่าง
    นายโภคิน พลกุล แกนนำพรรคเพื่อไทย และคณะทำงานฝ่ายกฎหมายพรรคเพื่อไทย กล่าวว่าตนตอบรับคำเชิญของกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญแล้ว โดยจะไปร่วมหารือเพื่อเสนอข้อคิดเห็นแนวทางการจัดทำร่างรัฐธรรม นูญฉบับใหม่ในวันที่ 12 ธ.ค.นี้ คาดว่าจะมีสมาชิกพรรคเพื่อไทยบางส่วนไปร่วมให้ความเห็นด้วย อาทิ นายสามารถ แก้วมีชัย อดีตส.ส.เชียงราย พรรคเพื่อไทย ขอยืนยันว่าเป็นการไปแสดงความคิดเห็นในนามส่วนตัว ไม่ใช่เป็นข้อสรุปของพรรคเพื่อไทยแต่อย่างใด สำหรับความคิดเห็นการยกร่างรัฐธรรมนูญนั้นตนจะนำข้อเสนอที่เป็นเอกสารที่เคยศึกษาและจัดทำไว้ช่วงที่ตนเป็นประธานคณะทำงานพรรคร่วมรัฐบาลเพื่อศึกษาแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญก่อนจะมีการรัฐประหาร เสนอต่อกรรมาธิการ ส่วนรายละเอียดจะขอแจกแจงให้ทราบอีกครั้งในวันดังกล่าว 
    นายโภคิน กล่าวต่อว่า ในการออกกฎหมายนิรโทษกรรมเป็นอีกประเด็นที่เราจะนำเสนอ โดยจะประมวลปัญหาทั้งจากผลงานวิจัยของสถาบันพระปกเกล้า รวมทั้งรายงานของคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อความปรองดองแห่งชาติหรือ คอป. เป็นหลักในการนำเสนอ โดยจะพิจารณาและหารือร่วมกับกรรมาธิการอีกครั้ง

พท.แนะรบ.เร่งนิรโทษผู้ชุมนุม
      ด้านนายวรชัย เหมะ อดีต ส.ส.สมุทร ปราการ พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ขณะนี้ถึงเวลาแล้วที่รัฐบาลรวมทั้ง คสช.จะต้องพิจารณาเรื่องการออกกฎหมายนิรโทษกรรมให้ประชาชนที่ถูกจับกุมจากเหตุการณ์การชุมนุมช่วงที่ผ่านมา เพราะเป็นคดีที่สืบเนื่องจากความเห็นต่างทางการเมืองจนกลายเป็นคดีอาญา หากรัฐบาลและ คสช.อยากให้เกิดการปรองดอง สมาน ฉันท์และคืนความสุขให้กับคนไทยอย่างแท้จริง ขอให้รีบดำเนินการทันที สำหรับ 4 เงื่อนไขที่นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ พูดถึงนั้น ตนขอให้เริ่มจากเอาคนที่ติดคุกในเรือนจำทุกสีเสื้อออกมาก่อน โดยไม่ต้องไปรอเขียนไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เพราะจะมีคนออกมาติและต่อต้านอีก สนช.และ สปช.สามารถออกเป็นพระราชบัญญัติได้ทันทีเพียงไม่กี่มาตรา แต่ขอให้มีผลผูกพันกับประชาชนที่ถูกคุมขังก่อน ใช้เวลาพิจารณาในชั้นกรรมาธิการประมาณ 2 เดือน ก็สามารถประกาศลงในราชกิจจานุเบกษาได้ทันที 

แกนนำ-คนสั่งการค่อยว่ากันทีหลัง
       "กฎหมายนิรโทษกรรมเป็นเรื่องสำคัญสุด ง่ายที่จะทำ เชื่อว่านายกฯ ไม่ได้มีความคิดขวาจัดตกขอบ แต่ผู้มีอำนาจบางคนไม่อยากปรองดองหรือประนีประนอม พยายามกวนน้ำให้ขุ่น ทำให้เรื่องมันยาก หวังใช้เรื่องนี้เป็นเงื่อนไขในการรักษาอำนาจให้กับตัวเองหรือไม่ อยากให้เห็นใจผู้ที่ต้องติดอยู่ในเรือนจำ เพราะแค่นาทีเดียวก็เป็นช่วงที่ต้องอยู่ด้วยความทรมาน ถูกจำกัดสิทธิเสรีภาพ ครอบครัวและญาติพี่น้องต้องเดือดร้อนมานานแล้ว ในส่วนแกนนำและผู้มีอำนาจสั่งการจะนิรโทษกรรมด้วยหรือไม่ค่อยมาว่ากัน" นายวรชัยกล่าว 
     นายวรชัย กล่าวอีกว่า ที่รัฐบาลยังอยู่ได้ขณะนี้เป็นเพราะนายกฯ ยืนยันที่จะเดินหน้าปฏิรูปประเทศตามโรดแม็ปที่วางไว้ โดยเฉพาะเรื่องการร่างรัฐธรรมนูญ เชื่อว่ารัฐบาลชุดนี้จะไม่ร่างรัฐธรรมนูญที่สร้างความขัดแย้งให้เกิดขึ้นเหมือนรัฐธรรมนูญฉบับปี"50 ที่เป็นเผด็จการซ่อนรูป ให้อำนาจองค์กรอิสระจนเลยเถิด ดังนั้นขอให้กำลังใจในการร่างรัฐธรรม นูญนำไปสู่การเลือกตั้งตามโรดแม็ปที่วางไว้ อย่าผิดเงื่อนไข

ตวงเดินสายรับฟังปฏิรูปการศึกษา
     วันเดียวกัน ที่ห้องประชุมวิทยาลัยการปกครองท้องถิ่น มหาวิทยาลัยขอนแก่น จ.ขอนแก่น นายตวง อันทะไชย ประธานคณะกรรมาธิการการศึกษาและการกีฬา สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เป็นประธานเปิดการเสวนารับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับการจัดทำกรอบแนวคิดในการปฏิรูปการศึกษาเพื่อบัญญัติไว้ในร่างรัฐธรรมนูญ ในระดับภูมิภาคภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยมีผู้บริหารสถานศึกษาและเครือข่ายภาคการศึกษาจากทั้ง 20 จังหวัดร่วมเสวนากว่า 600 คน
     นายตวงกล่าวว่า สิ่งที่ต้องทำทันทีคงหนีไม่พ้นเรื่องโครงสร้างกระทรวงศึกษาธิการที่ใหญ่เกินไป ถึงเวลาต้องปฏิรูปใหม่ทั้งหมด สิ่งที่ค่อนข้างชัดเจนคือการจัดตั้งทบวงมหา วิทยาลัยให้กลับไปรับผิดชอบงานบริหารในกลุ่มสถาบันอุดมศึกษา รวมทั้งโครงสร้างการบริหารงานบุคคลที่ซับซ้อนมากในการบริหารจัดการการศึกษาต้องสั้นลงและคล่องตัว วันนี้การศึกษาเป็นเรื่องที่ทุกฝ่ายต้องช่วยกัน ถ้าเราไม่ปฏิรูปอะไรเลยบ้านเมืองเราคงเดินหน้าต่อไปไม่ได้ เวทีเสวนาว่าด้วยการศึกษาจะรับฟังทุกภูมิภาคเพื่อให้ทันต่อการเสนอร่างดังกล่าวภายในวันที่ 18 ธ.ค. ตามที่รัฐบาลกำหนด

เผยขั้นตอนสรรหาผู้ตรวจฯใหม่
     นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ โฆษกคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการ สนช. กล่าวถึงขั้นตอนภายหลังจากที่ประชุมมีมติไม่เห็นชอบให้ม.ล.ฤทธิเทพ เทวกุล เป็นผู้ตรวจการแผ่นดินว่า หลังจากนี้ประธาน สนช.ต้องทำหนังสือกลับไปให้คณะกรรมการสรรหาผู้ตรวจการแผ่นดินพิจารณาอีกครั้งว่าจะมีมติอย่างไร ถ้าเป็นมติเอกฉันท์ก็จบ แต่ถ้าไม่เอกฉันท์ต้องเริ่มกระบวนการใหม่ โดยสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาจะทำหน้าที่เป็นฝ่ายธุรการเปิดรับสมัครใหม่ ทั้งนี้ ตามปกติคณะกรรมการสรรหาผู้ตรวจการแผ่นดินจะมีองค์ประชุมทั้งสิ้น 7 คน แต่คณะกรรมการสรรหาฯชุดที่เลือกม.ล.ฤทธิเทพมีองค์ประชุมเพียง 6 คน เนื่องจากขณะนี้เราไม่มีผู้นำฝ่ายค้านจึงทำให้ขาดองค์ประชุมไป 1 ตำแหน่ง ผลการลงมติครั้งสุดท้ายของคณะกรรมการสรรหาชุดดังกล่าว ม.ล.ฤทธิเทพชนะด้วยคะแนนเสียงข้างมาก ไม่เอกฉันท์ ดังนั้นอยู่ที่ดุลพินิจของคณะกรรมการสรรหาว่าจะยืนยันด้วยมติเอกฉันท์กลับมาหรือไม่ ส่วนกำหนดการประชุมคณะกรรมการสรรหาครั้งใหม่เป็นเรื่องของฝ่ายธุรการ ในไม่ช้าคงกำหนดวันประชุมได้

ยันเป็นเอกสิทธิ์และดุลยพินิจ
     นพ.เจตน์ กล่าวอีกว่า เนื่องจากเป็นการประชุมลับ เหตุผลคงบอกไม่ได้ว่าทำไมถึงไม่เห็นชอบ และเป็นเอกสิทธิ์ของสมาชิกด้วย การที่ที่ประชุมมีมติไม่เห็นชอบม.ล.ฤทธิเทพเป็นเรื่องที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน มติดังกล่าว สมาชิกสนช.คงใช้ดุลพินิจ ในเรื่องบุคคลที่จะเข้ามาทำหน้าที่ตำแหน่งผู้ตรวจการแผ่นดินคงจะต้องมีโปรไฟล์ที่ดี โดยเฉพาะเรื่องจริยธรรม ซึ่งเป็นคุณสมบัติตามหน้าที่จะต้องอธิบายได้ แต่เนื่องด้วยคณะกรรมาธิการตรวจสอบประวัติ ความประพฤติ และพฤติกรรมทางจริยธรรม ที่มีนางนิพัทธา อมรรัตนเมธา สมาชิก สนช.เป็นประธาน ซึ่งได้เชิญม.ล.ฤทธิเทพเข้ามาแสดงวิสัยทัศน์และซักถาม และได้ตั้งข้อสังเกตไว้เพื่อนำมารายงานต่อที่ประชุมใหญ่ เมื่อสมาชิกได้รับฟังข้อสังเกตแล้ว ก็เปิดให้สมาชิกให้ดุลพินิจ 
     ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับคณะกรรมการสรรหาผู้ตรวจการแผ่นดินชุดที่เลือกม.ล.ฤทธิเทพนั้น ประกอบด้วย 6 คน ดังนี้ นายดิเรก อิงคนินันท์ ประธานศาลฎีกา เป็นประธาน นายนุรักษ์ มาประณีต ประธานศาลรัฐธรรม นูญ นายหัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล ประธานศาลปกครองสูงสุด นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ตัวแทนจากที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา 1 คน และตัวแทนจากศาลปกครองสูงสุด 1 คน 

พล.อ.วิทวัสเดินหน้าลุยงานทันที
     พล.อ.วิทวัส รชตะนันทน์ กล่าวภายหลังมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นผู้ตรวจการแผ่นดินว่า การทำงานจะมุ่งเน้น 3 เรื่องสำคัญ เรื่อง แรก ผู้ตรวจการแผ่นดินต้องเป็นที่พึ่งของประชาชนที่เดือดร้อน ให้ความเป็นธรรมแก่ทุกคนอย่างเสมอภาค กระบวนการตรวจสอบและแก้ไขปัญหาต้องถูกต้อง เที่ยงธรรม ไม่ล่าช้า สอง มุ่งสร้างเสริมคุณธรรม จริยธรรม วางรากฐานสร้างเครือข่ายให้ประชาชนมีส่วนร่วม สาม ให้ข้อพิจารณาและข้อเสนอแนะแก่รัฐบาลและรัฐสภาได้เป็นอย่างดี ในปี 2559 ประเทศไทยได้รับคัดเลือกให้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมผู้ตรวจการแผ่นดินระดับโลก ครั้งที่ 11 ซึ่งจะมีคณะกรรมการบริหารสถาบันผู้ตรวจการแผ่นดินนานาประเทศเข้าร่วมกว่า 150 คณะ

'ตาแม้ว-ยายปู'ปลื้มหลานแฝด
     เมื่อวันที่ 6 ธ.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานว่าน.ส.พินทองทา คุณากรวงศ์ หรือเอม บุตรสาวคนกลางของพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และคุณหญิงพจมาน ดามาพงศ์ คลอดลูกสาวฝาแฝดแล้วที่โรงพยาบาลพระราม 9 กรุงเทพฯ โดยนายณัฐพงศ์ คุณากรวงศ์ สามี โพสต์รูปภาพภรรยาและลูกสาวฝาแฝดผ่านอินสตาแกรมส่วนตัวพร้อมข้อความแสดงความดีใจ
     ขณะที่ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร บุตรสาวคนเล็กของพ.ต.ท.ทักษิณโพสต์ข้อความผ่าน อินสตาแกรมส่วนตัวเช่นกันว่า "กำลังใจเพียบ คุณตา face time มาอวยพรก่อนคลอดด้วย" พร้อมโพสต์ภาพถ่ายครอบครัวที่มีทั้งพ.ต.ท.ทักษิณ คุณหญิงพจมาน น.ส.พินทองทา นายณัฐพงศ์ นายพานทองแท้ ชินวัตร พี่ชาย และตนเอง
    แหล่งข่าวคนใกล้ชิดครอบครัวชินวัตรเปิดเผยว่า "พ.ต.ท.ทักษิณในฐานะคุณตาคนใหม่ได้เฟซไทม์มาให้กำลังใจลูกสาวตั้งแต่เตรียมตัวคลอด และเมื่อหลานสาวฝาแฝดคลอดออกมาแล้วพ.ต.ท.ทักษิณและคุณยายปู น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ซึ่งเป็นอาของน้องเอมต่างโทรศัพท์มาแสดงความยินดีและอวยพรให้สุขภาพแข็งแรงทั้งแม่และลูก ทั้งคุณตาทักษิณ คุณยายปู และคุณยายพจมาน แสดงอาการเห่อหลานมาก โดยคุณยายปูซึ่งอยู่ที่จังหวัดเชียงรายเตรียมเดินทางมาเยี่ยมหลานใหม่ทันทีที่เดินทางกลับถึงกรุงเทพฯ"
    ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า วันเดียวกันนี้น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี พร้อมด.ช.ศุภเสกข์ อมรฉัตร หรือน้องไปป์ บุตรชาย เดินทางไปยังจังหวัดเชียงรายเพื่อเยี่ยมชมโครงการพัฒนาดอยตุง อันเนื่องมาจากพระราชดำริ มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงในพระบรมราชูปถัมภ์ อ.แม่สาย จ.เชียงราย ชมการแสดงของชนเผ่าและสินค้าพื้นบ้านที่วางจำหน่ายบนถนนคนเดิน นักท่องเที่ยวที่พบเห็นต่างเข้ามาถ่ายรูปด้วยจำนวนมาก หลังจากนั้นได้ไปเที่ยวตลาดแม่สาย ในช่วงค่ำน.ส.ยิ่งลักษณ์ร่วมพบปะเพื่อนนักศึกษาในงานเลี้ยงสิงห์ขาวรุ่นที่ 21 ของสมาคมรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่บ้านน้ำรีสอร์ท อ.แม่สาย จ.เชียงราย โดยจะเดินทางกลับกรุงเทพฯ วันที่ 8 ธ.ค.

ตู่ชมสหรัฐคืนโบราณวัตถุ 554 ชิ้น 
     วันที่ 6 ธ.ค. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวในรายการ "คืนความสุขให้คนในชาติ" ว่าเมื่อ 2 สัปดาห์ที่ผ่านมาสหรัฐอเมริกาส่งมอบโบราณวัตถุจำนวน 554 ชิ้น ซึ่งเดิมเก็บรักษาอยู่ที่พิพิธภัณฑ์บาวเออร์ส รัฐแคลิฟอร์เนีย ให้กลับมาอยู่ในความครอบครองของไทย ปัจจุบันอยู่ที่คลังกลาง พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กรมศิลปากร ส่วนมากเป็นโบราณวัตถุสมัยก่อนประวัติศาสตร์ โดยเฉพาะจากแหล่งวัฒนธรรมบ้านเชียง การส่งคืนครั้งนี้นับว่ามีจำนวนมากกว่าทุกครั้งที่ผ่านมา เป็นเรื่องน่ายินดีของชาวไทยที่ได้มรดกเก่าแก่ล้ำค่าคืนกลับสู่แผ่นดิน ในอนาคตก็ต้องนำเอามรดกแผ่นดินกลับคืนมาเพื่อให้ประชาชนภูมิใจในความเป็นชาติ "ในนามของรัฐบาลขอขอบคุณรัฐบาลสหรัฐอเมริกาสำหรับความร่วมมือในครั้งนี้ รวมทั้งเป็นการแสดงระดับความสัมพันธ์อันดีระหว่างประชาชนของทั้ง 2 ประเทศมาเกือบ 200 ปี" นายกรัฐมนตรีกล่าว