วันที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557 ปีที่ 24 ฉบับที่ 8754 ข่าวสดรายวัน


'บิ๊กตู่'เดินสาย 2 จว.อีสาน 
สปช.โต้ร่างรธน. ตั้งธงล้างทักษิณ
       นายกฯ ตู่พบชาวขอนแก่น-กาฬสินธุ์ ประเดิมลงพื้นที่อีสาน ดีเดย์ 19 พ.ย. รับฟังปัญหาพร้อมแจงการบริหารงานรัฐบาล หน่วยความมั่นคงเตรียมกำลังรักษาความปลอดภัยเข้มข้น บิ๊กโด่งบินเยี่ยมค่ายสุรนารี ยันปรองดองพื้นที่อีสานไร้ปัญหา ประธานกมธ.ปฏิรูปการเมืองหนุนเปิดกว้างรับฟังความเห็น ไร้ธงจ้องล้างอำนาจทักษิณ วิปสปช.เชื่อคสช.ไฟเขียวประชุมพรรคการ เมืองหากทำเรื่องขอไป นักวิชาการแนะผ่อนกฎอัยการศึก แบ่งเวลาคุมบางพื้นที่ เพื่อไทยเชื่อคิวต่อไปฟัน 280 ส.ส.ปมแก้รธน. จี้ป.ป.ช.เอาผิดประกันราคาข้าวทำขาดทุน ป.ป.ช.เริ่มขยับเรียกข้อมูลสอบมาร์คประกันราคาข้าว สนช.นัดประชุม 5 ครั้งถกถอดถอน เผยใช้มติลับ 3 ใน 5 สอยปู สมาคมนักข่าวจี้ยุติคุกคามสื่อ


บิ๊กตู่ลงพื้นที่ขอนแก่น-กาฬสินธุ์ 
      เมื่อวันที่ 15 พ.ย. รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาลเปิดเผยว่าหลังจากที่พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เดินทางกลับจากการปฏิบัติหน้าที่ ในต่างประเทศหลายวันติดต่อกัน จึงวางกำหนดการลงพื้นที่ต่างจังหวัดตามที่ตั้งใจไว้ก่อนหน้านี้ โดยล็อกไม่ให้มีวาระงานในกรุงเทพฯ ในวันพุธที่ 19 พ.ย. เพื่อลงพื้นที่ต่างจังหวัด พร้อมสั่งการให้สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีจัดทำแผนการลงพื้นที่ เบื้องต้นกำหนดลงพื้นที่จ.ขอนแก่นและจ.กาฬสินธุ์ โดยจะขึ้นเครื่องจากกรุงเทพฯไปลงที่จ.ขอนแก่นและกลับภายในวันเดียว กัน เพื่อรับฟังปัญหาประชาชนและจะใช้โอกาสนี้อธิบายสิ่งที่รัฐบาลดำเนินการไปและสิ่งที่จะทำในอนาคต รวมถึงให้สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีพิจารณาว่าควรให้รัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องคนใดร่วมคณะไปด้วยบ้าง และให้นำแผนงานดังกล่าวส่งให้นายกรัฐมนตรีพิจารณาในวันจันทร์ที่ 17 พ.ย. นี้
     รายงานข่าวแจ้งด้วยว่าหน่วยงานด้านความมั่นคงในพื้นที่เตรียมการรักษาความปลอดภัยให้กับนายกฯ ในระดับสูงสุด ขณะที่ในพื้นที่เองจะประชุมเพื่อพิจารณาว่าจะให้นายกฯ ตรวจเยี่ยมตรงจุดใดบ้าง

บิ๊กโด่งบินเยี่ยมค่ายสุรนารี
     เวลา 08.00 น. ที่กองการบิน กรมการขนส่งทหารบก (ขส.ทบ.) พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร รมช.กลาโหม เลขาธิการคสช. ในฐานะผู้บัญชาการทหารบก ให้สัมภาษณ์ก่อนเดินทางไปตรวจเยี่ยมราชการที่ศูนย์การศึกษาค่ายสุรนารี กองทัพภาคที่ 2 จ.นคร ราชสีมาและตลาดเมืองใหม่ช่องสะงำว่า ตั้งแต่เข้ามารับตำแหน่งตั้งใจว่าจะไปเยี่ยม เยียนดูการปฏิบัติงานของผู้ใต้บังคับบัญชาในกองทัพภาคต่างๆ วันนี้จึงหาเวลาไปตรวจเยี่ยมกองทัพภาคที่ 2 รับฟังการปฏิบัติงานและข้อคิดเห็น เพราะที่ผ่านมาจะให้เวลาลงพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ แม้ว่าขณะนี้สถานการณ์จะไม่มีปัญหาอะไรแล้วก็ตามแต่หน้าที่ของทหารคือการดูแลพื้นที่ชายแดนให้เรียบร้อย

ยันปรองดองอีสานไร้ปัญหา
     ผู้สื่อข่าวถามถึงความคืบหน้าการสร้างความปรองดองในพื้นที่ภาคอีสาน พล.อ. อุดมเดชกล่าวว่าไม่หนักใจอะไร สามารถพูดคุยทำความเข้าใจได้ สภาพโดยรวมขณะนี้ไม่มีปัญหาอะไร แต่แน่นอนว่ายังคงมีผู้ที่มีความคิดเห็นแตกต่างไปบ้าง แต่ไม่เกินกรอบที่วางไว้ ต่อข้อถามถึงกรณีที่ตัวแทนพรรคการเมืองต้องการประชุมพรรคก่อนเสนอความคิดเห็นต่อคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ พล.อ.อุดมเดชกล่าวว่าจนถึงขณะนี้ยังไม่เห็นหนังสือใดๆ จากพรรคการเมือง คงมีการพิจารณาในระดับสูง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอีกครั้ง เช่น สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) หรือกรรมาธิการ ยกร่างฯ ในส่วนของทหารจะติดตามเรื่องนี้ต่อไปเช่นกัน เมื่อถามย้ำว่าเป็นไปได้หรือไม่ที่คสช.จะมีคำสั่งอนุญาตให้พรรคการเมืองประชุมได้เฉพาะช่วงนี้ พล.อ.อุดมเดชกล่าวว่าคงต้องพิจารณาอีกครั้ง เพราะบางเรื่องตนไม่สามารถตัดสินใจได้

แจงปมไทยพีบีเอส-โต้งดรายการ
      พล.อ.อุดมเดช กล่าวถึงกระแสข่าวว่าทหารกดดันให้ผู้บริหารสถานีไทยพีบีเอสเปลี่ยวตัวผู้ดำเนินรายการเสียงประชาชนว่า "ไม่ได้ให้ยุติอะไร แต่ในจุดใดก็ตามหากตรวจสอบแล้วเห็นว่าทัศนคติมีความไม่เข้าใจในบางสิ่งบางอย่างก็จะพูดคุยว่าแนวทางการจัดอาจทำให้เกิดผลเสียมากกว่าผลดี แต่ยังไม่ได้ไปทำอะไรมากมายนัก อยู่ในระดับทำความเข้าใจกัน บางสถานีมีการพูดคุยกันอยู่เสมอตั้งแต่วันที่ 22 พ.ค.ที่ผ่านมา จนถึงปัจจุบันถือว่าน้อยลงมากแล้ว แต่ยังจำเป็นต้องคุยเนื่องจากบางครั้งมีสิ่งที่ออกมาแล้วทำให้ภาพดูไม่ค่อยดีนัก จึงจำเป็นต้องคุยและขอความร่วมมือ บางอย่างถ้าอยู่ในจุดที่เมื่อเสนอรายการอะไรออกไปแล้ว กลายเป็นจุดเริ่มต้นที่จะก่อให้เกิดความไม่เรียบร้อยหรือไม่เหมาะสมก็ต้องรักษาความสงบเรียบร้อยเอาไว้ขอความร่วมมือให้ช่วยกัน แต่ถ้าไม่เข้าใจบางทีก็ต้องคุยกัน"

สนช.นัดถกพรบ.-ประเดิมกระทู้
     ผู้สื่อข่าวรายงานจากรัฐสภาว่า นาย พรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีคำสั่งให้นัดประชุมสนช.ครั้งที่ 25/2557 ในวันพฤหัสบดีที่ 20 พ.ย. และครั้งที่ 26/2557 ในวันศุกร์ที่ 21 พ.ย. เวลา 10.00 น. วาระสำคัญ ได้แก่ ร่างข้อบังคับว่าด้วยประมวลจริยธรรมของสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติและกรรมาธิการ ที่คณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการสภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณาเสร็จแล้ว และร่างพ.ร.บ. ที่คณะรัฐมนตรีเสนอ 2 ฉบับ คือ 1.พิธีสารเพื่ออนุวัติข้อผูกพันชุดที่ 7 ของบริการขนส่งทางอากาศ ภายใต้กรอบความตกลงว่าด้วยบริการของอาเซียน 2.ภาคผนวก 10 เงื่อนไขการขนส่ง ตามความตกลงว่าด้วย การอํานวยความสะดวกในการขนส่งสินค้าและผู้โดยสารข้ามพรมแดนระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรกัมพูชา สาธารณรัฐประชาชนจีน สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว สหภาพพม่า ราชอาณาจักรไทย และสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม
     นอกจากนี้ ยังมีร่างพ.ร.บ.ที่คณะกรรมา ธิการวิสามัญพิจารณาเสร็จแล้วหลายฉบับ และจะมีการพิจารณากระทู้ถามเป็นครั้งแรกในการประชุมสนช. คือ เรื่องการตรวจสอบการใช้งบประมาณของสํานักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ที่นายวัลลภ ตังคณานุรักษ์ สนช.เป็นผู้ตั้งคำถามนายกรัฐมนตรี

สมบัติ ยันไร้ธงล้างอำนาจทักษิณ
      นายสมบัติ ธำรงธัญวงศ์ สมาชิก สภาปฏิรูปฯ (สปช.) และประธานคณะกรรมาธิการปฏิรูปด้านการเมือง กล่าวว่า ขณะนี้กรรมาธิการปฏิรูปด้านการเมือง แบ่งคณะอนุกรรมาธิการ 4 ด้านคือ 1.ปฏิรูปโครงสร้างการเมืองและองค์กรอิสระ 2.ปฏิรูประบบพรรคการเมือง 3.ปฏิรูปกลไกและระบบการเลือกตั้ง และ 4.ปฏิรูปกลไกการมีส่วนร่วมทางการเมือง ซึ่งคณะนี้อาจรวมเรื่องการปรองดองด้วย โดยสัปดาห์แรกของเดือนธ.ค. คณะอนุกรรมาธิการแต่ละคณะจะสรุปกรอบความเห็นให้กรรมาธิการการเมืองฯ เพื่อนำเสนอไปยังสปช.วันที่ 10 ธ.ค. ส่วนข้อเสนอเรื่องตั้งสภาประชาชนหรือสภาพลเมืองที่มีการเสนอในการ สัมมนาสปช.ก่อนหน้านี้ เพื่อให้ทำหน้าที่ คัดกรองบุคคลเข้าสู่การเลือกตั้งจะเสนอ เข้าสู่คณะอนุกรรมาธิการปฏิรูปโครงสร้างการเมือง และองค์กรอิสระให้พิจารณาด้วย ยืนยันว่า การร่างรัฐธรรมนูญไม่มีตั้งธงล้างอำนาจเก่าพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และการนำตัวบุคคลมาเป็นตัวตั้งในการยกร่างรัฐธรรมนูญ เพราะการร่างรัฐธรรมนูญต้องเขียนเพื่อประเทศ ตนเป็นนักวิชาการยึดความถูกต้อง 

หนุนเปิดกว้างปฏิรูปการเมือง
      ต่อข้อถามว่าคสช.ควรยกเลิกประกาศใช้กฎอัยการศึกก่อนสปช.รับฟังความเห็นประชาชนหรือไม่ นายสมบัติกล่าวว่า คสช.ชี้แจงว่าการใช้กฎอัยการศึกเพราะยังมีปัญหาความไม่สงบก็ควรมุ่งเน้นกำกับดูแลความไม่สงบอย่างเดียว ส่วนการปฏิรูปการเมือง การรับฟังความเห็นประชาชนควรเปิดกว้าง ถ้าไม่เปิดกว้างจะทำให้การปฏิรูปไม่ราบรื่นและจะมีข้ออ้างถึงความไม่สะดวกได้ ส่วนการรวมตัวของประชาชนเพื่อเสนอความเห็นต่อการปฏิรูปจะขัดกฎอัยการศึกหรือไม่นั้นเห็นว่าคนทำงานต้องแยกแยะให้ออกว่า การฟังความเห็นเป็นการเสนอแนวทางเพื่อการปฏิรูป สำหรับข้อเสนอให้ทำประชามติรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ขณะนี้ยังมีความเห็น 2 แนวทาง คือ 1.ถ้าทำประชามติจะทำให้มีหลักพิงว่ารัฐธรรมนูญได้รับความเห็นชอบจากประชาชน มีความชอบธรรม และ 2.การทำประชามติไม่สอดคล้อง มีมาตราเยอะ มีทั้งคนเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย จึงอาจทำให้ไม่ชัดเจนเหมือนครั้งที่แล้ว ต้องหารือเรื่องนี้กันอีกครั้ง แต่หากจะทำก็แก้รัฐธรรมนูญชั่วคราวเพราะมีช่องทางอยู่แล้ว

กมธ.มีส่วนร่วมโต้ตีกรอบความเห็น
      นางถวิลวดี บุรีกุล ประธานกรรมาธิการการมีส่วนร่วมและรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ในกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรม นูญ กล่าวถึงการตีกรอบรับฟังความเห็นของฝ่ายความมั่นคงต่อประเด็นการปฏิรูปและข้อเสนอต่อการยกร่างรัฐธรรมนูญ จากกรณีรายการเสียงประชาชน ต้องฟังก่อนการปฏิรูป ทางสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอสว่า เรื่องดังกล่าวจะไม่เป็นปัญหาของการรับฟังความเห็นในประเด็นยกร่างรัฐธรรมนูญ เพราะได้ตั้งประเด็นการรับฟังเฉพาะเนื้อหาการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ที่เป็นการมองภาพอนาคตเพื่อประโยชน์ต่อการยกร่างรัฐธรรมนูญ ไม่ใช่การตำหนิหรือเปิดให้ประชาชนชี้นิ้วด่ากัน ดังนั้นการตีกรอบของฝ่ายความมั่นคงในประเด็นความขัดแย้งจึงไม่เป็นสิ่งที่น่ากังวล

นัด 17 พ.ย.ถกรูปแบบรับฟัง
     นางถวิลวดี กล่าวต่อว่า นอกจากนั้น ในกระบวนการรับฟังความเห็นที่อนุกรรมาธิการพิจารณาร่วมกันเห็นว่าต้องมีกติกาและประเด็นการรับฟังที่ชัดเจนและปฏิบัติตามกฎหมาย คือพ.ร.บ.กฎอัยการศึกที่มีผลบังคับใช้ เบื้องต้นอาจต้องแจ้งไปยังฝ่ายที่เกี่ยวข้องหรือทำหนังสือขออนุญาตหากจะจัดกิจกรรมทางการเมือง ประชุมหรือชุมนุมเกิน 5 คน สำหรับการเรียกร้องให้เลิกการประกาศใช้กฎอัยการศึกเข้าใจว่าต้องการเปิดพื้นที่แสดงความเห็น แต่ส่วนตัวเข้าใจฝ่ายผู้ดูแลความเรียบร้อยเช่นกันว่าหากยกเลิกไปแล้วอาจมีเหตุการณ์ที่ไม่เรียบร้อยได้ กรณีจะให้ทหารยกเลิกกฎอัยการศึกเวทีประชาชนและสังคมต้องแสดงให้เห็นว่าเวทีที่จัดจะไม่นำไปสู่ความขัดแย้งก่อน
      "อนุกรรมาธิการจะนัดประชุมอีกครั้ง 17 พ.ย.นี้ โดยจะเสนอรูปแบบและวิธีปฏิบัติการรับฟังความเห็นที่เป็นประโยชน์ต่อการยกร่างรัฐธรรมนูญ เช่น กำหนดประเด็นว่าจะไม่ใช้เงินในทางการเมืองได้อย่างไร ให้หน่วยงานไปสอบถามประชาชนที่กำหนด เป็นต้น และหลังจากที่ประชุม อนุกรรมาธิการพิจารณาและเห็นชอบแล้วจะเริ่มทำงานทันที โดยมีความร่วมมือ จากสำนักงานสถิติแห่งชาติ สถาบัน องค์กรชุมชนมาช่วยงาน เชื่อมั่นว่าเมื่ออนุกรรมาธิ การ เปิดเวทีฟังความเห็นแล้วประชาชนจะเข้าร่วมโดยไม่กังวลว่าจะมีผลกระทบใดๆ ตามมาหลังจากสะท้อนความเห็น"นาง ถวิลวดีกล่าว

เชื่อคสช.ไฟเขียวหากพรรคขอ
       นายวันชัย สอนศิริ โฆษกวิปสปช. กล่าวถึงกรณีที่บางพรรคการเมืองขอให้ยกเลิกกฎอัยการศึกว่า เป็นเรื่องของพรรคการเมือง กับคสช. ต้องยอมรับว่าขณะนี้บ้านเมืองเราใช้การปกครองที่ไม่ปกติ จะใช้การปกครองแบบประชาธิปไตยปกติไม่ได้ พรรคการ เมืองต้องไปขออนุญาตกับคสช.เอง แต่จะได้รับอนุญาตหรือไม่ขึ้นอยู่กับคสช.จะพิจารณา ส่วนสปช.เองเห็นว่าการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนเป็นสิ่งสำคัญ ข้อเสนอแนะจากประชาชนเป็นส่วนหนึ่งที่จะทำให้การปฏิรูปสำเร็จ การทำงานของสปช. นายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธานสปช. เคยบอกแล้วว่าจะประสาน คสช.และหน่วยงานด้านความมั่นคง เพื่อวางกรอบให้สปช.และกรรมาธิการนำไปปฏิบัติเป็นแนวทางเดียวกัน และการปฏิรูปต้องรับฟังความคิดเห็นจากประชาชน ทั้งนี้เชื่อว่าไม่มีปัญหา การปรึกษาหารือของพรรคต่างๆ น่าจะทำได้อยู่แล้วหากทำในเรื่องดี ไม่ใช่วางแผนล้มล้างใดๆ คิดว่าคสช.น่าจะอนุญาต

นักวิชาการแนะปรับใช้อัยการศึก
     นายยุทธพร อิสรชัย คณบดีรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช กล่าวว่าเรื่องกฎอัยการศึกไม่ใช่เฉพาะพรรคการเมืองเท่านั้นที่อยากให้ยกเลิก ต่างประเทศ เช่น สหรัฐก็อยากให้ยกเลิกเช่นกัน มีความพยายามกดดันให้ยกเลิกจากประเทศมหาอำนาจเพื่อให้ประชาชนมีสิทธิเสรีภาพ รวมทั้งจะทำให้การท่องเที่ยวและเศรษฐกิจได้รับความสนใจจากต่างประเทศมากขึ้น ต้องผ่อนคลายบ้าง อาจจะปรับการใช้กฎอัยการศึกเป็นบางเวลาหรือใช้ในบางพื้นที่ที่จำเป็น เช่น แค่ยามวิกาลหรืออาจเปลี่ยนเป็นกฎหมายอื่นที่ไม่เข้มเท่า 



ส่วนกรณีที่คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญเชิญพรรคการเมืองและกลุ่มการเมืองมาพูดคุยเพื่อเสนอแนะแนวทางการร่างรัฐธรรมนูญนั้น นายยุทธพรกล่าวว่าเป็นเรื่องดีที่กรรมาธิการเชิญคู่ขัดแย้งมา เพราะในกรรมาธิการยกร่างฯ ไม่มีคนพวกนี้อยู่เลย จะได้ประโยชน์จากข้อเสนอแนะอย่างมาก แต่ไม่แน่ใจว่าพวกเขาจะมาหรือไม่ เพราะหากมาตามคำเชิญอาจสูญเสียฐานมวลชนได้ มวลชนที่สนับสนุนจะหาว่าไปสนับสนุนการรัฐประหาร การเชิญมาพูดคุยไม่ใช่เรื่องง่าย ยิ่งเป็นเวทีเปิดมีการบันทึกคำพูดหรือเปิดให้สื่อเข้าฟังอาจจะไม่ได้ข้อมูลที่แท้จริง เพราะเกิดอาการไม่กล้าพูด กรรมาธิการ ยกร่างฯอาจต้องหาเวทีลับเพื่อให้ได้ข้อมูลที่แท้จริง

เด็จพี่จี้คสช.ปลดล็อกอัยการศึก
        ด้านนายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ รักษาการโฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวว่าการที่กรรมา ธิการยกร่างฯ จะขอความเห็นจากพรรคเกี่ยวกับเรื่องรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นเรื่องสำคัญ แต่ขณะนี้ยังประกาศใช้กฎอัยการศึก ขณะที่ กกต.ทำหนังสือส่งมาที่พรรคเพื่อไทย ขอความร่วมมือไม่ให้ทำกิจกรรมทางการเมือง ที่ผ่านมาแม้จะมีสมาชิกพรรคแสดงความเห็นทางสื่อมวลชนก็เป็นการแสดงความเห็นส่วนตัว การจะให้ไปแสดงความเห็นก็จะกลายเป็นความเห็นส่วนตัว เพราะถ้าจะให้เป็นมติพรรคก็ต้องประชุมพรรค การไม่ปลดล็อกกฎอัยการศึกพรรคเพื่อไทยจะประชุมเพื่อสรุปข้อคิดเห็นส่งไปยังกรรมาธิการได้อย่างไร
      รักษาการโฆษกพรรคเพื่อไทยกล่าวต่อว่าเรายินดีร่วมมือกับกรรมาธิการ และ คสช.ในการบริหารประเทศ แต่ส่วนตัวคิดว่า พรรคต้องมีการประชุม ที่ผ่านมาเมื่อ คสช.สั่งห้ามเคลื่อนไหวทางการเมืองพรรคก็ไม่เคยเรียกประชุมสมาชิกพรรคเลย แต่เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่และสำคัญควรปลดล็อกให้คุยกันเฉพาะเรื่องนี้ เชื่อว่าจะเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติและประชาชน รวมทั้งจะได้ความเห็นจากทุกภาคส่วน ประชาชนก็คาดหวังว่าแต่ละพรรคการเมืองจะเสนออย่างไร กรรมาธิการควรอำนวยความสะดวกโดยทำหนังสือไปยัง คสช.ในเรื่องนี้หากต้องการให้เราไปเสนอความเห็น นอกจากจะเป็นเรื่องดีแล้วยังแสดงความจริงใจของกรรมาธิการที่ต้องการรับฟังความคิดเห็นจากเราและทุกฝ่าย

พท.เชื่อคิวต่อไปฟัน 280 ส.ส.
      นายสมคิด เชื้อคง อดีตส.ส.อุบลราชธานี พรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณีที่ ป.ป.ช.มีมติส่งเรื่องไปยัง สนช.เพื่อพิจารณาถอดถอนอดีต 38 ส.ว.กรณีการแก้ไขรัฐธรรมนูญว่า เป็นไปตามที่คาดการณ์ไว้ว่า สนช.จะต้องมีมติรับเรื่องดังกล่าวไว้พิจารณาเช่นเดียวกับที่ สนช.พิจารณารับเรื่องของนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ อดีตประธานรัฐสภา และนายนิคม ไวยรัชพานิช อดีตประธานวุฒิสภา เชื่อว่าต่อไปจะเป็นคิวของอดีต ส.ส.อีกกว่า 280 คน จะถูกป.ป.ช.ดำเนินการเช่นเดียวกัน ถือเป็นสัญญาณการไล่ล่าของฝั่งตรงข้ามทางการเมืองของกลุ่มคนบางกลุ่ม ส่วนผลการถอดถอนของ สนช.จะออกมาเป็นเช่นไรคงไม่เกินการคาดเดา

จี้ฟันประกันราคาข้าวทำขาดทุน
        นายสมคิด กล่าวกึงกรณีที่ปลัดกระทรวงการคลังสรุปโครงการรับจำนำข้าว 15 โครง การตั้งแต่ปี 2547 ถึงวันที่ 22 พ.ค.2557 มีผลขาดทุนรวมอยู่ที่ 6.8 แสนล้านบาท โดยผลขาดทุนใน 4 โครงการหลังในยุครัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จำนวน 5.1 แสนล้านบาท ซึ่งรัฐบาลอื่นทำโครงการประกันราคาข้าวขาดทุนเช่นเดียวกัน แต่ ป.ป.ช. แกล้งไม่พูดถึง บอกว่า "ไม่ขาดทุน" กลับใช้คำว่า "แค่ใช้เงินไป" นอกจากนี้ยังใช้ตัวเลขของกระทรวงการคลังขยายผลในคดีจำนำข้าว กับน.ส.ยิ่งลักษณ์เหมือนนัดกันไว้แล้ว พูดแต่ตัวเลขขาดทุนแต่กลับไม่พูดถึงข้าวในโกดัง 19 ล้านตัน ควรหักลบออกมาเลยจะได้รู้ว่ารัฐบาลน.ส.ยิ่งลักษณ์ใช้เงินไปเท่าไร ไม่ใช่ใช้คำพูดว่าแค่ใช้เงินไปกับรัฐบาลอื่น แต่รัฐบาลน.ส.ยิ่งลักษณ์กลับใช้คำว่าโกง โดยแกล้งลืมว่านโยบายนี้เป็นนโยบายช่วยชาวนาให้มีรายได้เพิ่มมากขึ้น 
     "ผมพูดคุยกับเพื่อนอดีต ส.ส.พรรคเพื่อไทยว่า หาก ป.ป.ช.ยื่นถอดถอนคนที่แก้ไขรัฐธรรมนูญให้ ส.ว.มาจากการเลือกตั้ง แล้วถูกคนที่มาจากการแต่งตั้งถอดถอน ก็ต้องถามว่าประเทศไทยเป็นของพวกคุณกลุ่มเดียวหรือ ขอถามพล.อ.ประยุทธ์ว่านี่หรือคือสัญญาณความปรองดอง" นายสมคิดกล่าว

เปิดกรอบประชุมสนช.5 ครั้งสอยปู
    รายงานจากรัฐสภาแจ้งว่า สนช.วางกรอบและขั้นตอนการพิจารณาถอดถอนน.ส.ยิ่งลักษณ์ตามข้อบังคับการประชุมสนช. เกี่ยวกับการถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต โดยเบื้องต้นกำหนดไว้ดังนี้ 1. ประชุมนัดแรกหรือครั้งที่ 1 วันที่ 28 พ.ย. เพื่อให้ที่ประชุมสนช.พิจารณากำหนดวันแถลงเปิดสำนวนของคณะกรรมการ ป.ป.ช. และผู้ถูกกล่าวหา รวมทั้งให้พิจารณาคำขอเพิ่มเติมพยานหลักฐานของผู้ถูกกล่าวหา (ถ้ามี) โดยผู้ถูกกล่าวหาจะต้องยื่นคำขอเพิ่มเติมพยานหลักฐานก่อนการประชุมนัดแรกไม่น้อยกว่า 5 วัน 2.การประชุมครั้งที่ 2 วันที่ 11 ธ.ค. เพื่อฟังคำแถลงเปิดสำนวนจากคณะกรรมการ ป.ป.ช. และคำแถลงคัดค้านของผู้ถูกกล่าวหาโดยไม่มีการซักถาม จากนั้นที่ประชุมสนช.พิจารณาว่าควรมีการซักถามในประเด็นใดเพิ่มเติม และหากที่ประชุมมีมติซักถามให้ตั้งคณะกรรมาธิการซักถาม โดยคู่กรณีมีสิทธิ์ยื่นคำขอแถลงการณ์ปิดสำนวนด้วยวาจาหรือเป็นหนังสือต่อที่ประชุมสนช.ภายใน 7 วันนับแต่วันแถลงเปิดสำนวนเสร็จสิ้น

เผยลงมติลับใช้เสียง 3 ใน 5
       3.การประชุมครั้งที่ 3 วันที่ 17 ธ.ค. เพื่อให้คณะกรรมาธิการซักถามผู้เกี่ยวข้องเท่านั้น 4.การประชุมครั้งที่ 4 วันที่ 23 ธ.ค. เพื่อรับฟังคำแถลงปิดสำนวนด้วยวาจา หากยื่นคำขอแถลงทั้ง 2 ฝ่าย ให้คณะกรรมการ ป.ป.ช.เป็นฝ่ายแถลงก่อน และ 5.การประชุมครั้งที่ 5 วันที่ 25 ธ.ค. เพื่อลงมติถอดถอนหรือไม่ถอดถอนภายใน 3 วัน นับแต่วันแถลงการณ์ปิดสำนวนด้วยวาจาหรือวันพ้นกำหนดให้ยื่นคำแถลงการณ์ปิดสำนวนเป็นหนังสือ ทั้งนี้การออกเสียงลงมติให้ลงคะแนนลับในคูหา โดยให้สมาชิกกากบาทในบัตรลงคะแนนว่าถอดถอนหรือไม่ถอดถอน โดยมติในการถอดถอนจะต้องมีคะแนนเสียงไม่น้อยกว่า 3 ใน 5 ของจำนวนสมาชิก สนช.เท่าที่มีอยู่คือ 132 เสียง

ป.ป.ช.เรียกข้อมูลสอบมาร์คปมข้าว
      นายปานเทพ กล้าณรงค์ราญ ประธานป.ป.ช. กล่าวถึงกรณีพรรคเพื่อไทยขอให้ป.ป.ช. ดำเนินการถอดถอนนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และพล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ อดีตนายกรัฐมนตรี ที่บริหารงานผิดพลาดทำให้เกิดความเสียหายในโครงการจำนำข้าวกว่า 1 แสนล้านบาท ตามข้อมูลของประธานคณะอนุกรรมการปิดบัญชีโครงการรับจำนำข้าวว่า ขณะนี้ป.ป.ช.กำลังไต่สวนเรื่องโครงการประกันราคาข้าวในสมัยรัฐบาลนายอภิสิทธิ์อยู่แล้ว แต่เมื่อมีข้อมูลจากประธานคณะอนุกรรมการปิดบัญชีโครงการรับจำนำข้าวว่าในสมัยรัฐบาลนายอภิสิทธิ์มีความเสียหายในโครงการประกันราคาข้าวเช่นกัน ดังนั้นป.ป.ช.จะขอข้อมูลจากประธานอนุกรรมการมาใช้ประกอบการไต่สวน เพื่อพิจารณาว่าการระบายข้าวโครง การประกันราคาข้าวในสมัยนายอภิสิทธิ์เป็นนายกรัฐมนตรีมีความเสียหายเกิดขึ้นจริงหรือไม่ และมาจากการละเลยบริหารงานผิดพลาดของรัฐบาลนายอภิสิทธิ์หรือไม่ ป.ป.ช.จะเรียกข้อมูลมาดูทั้งหมดเพื่อให้การทำงานของป.ป.ช.ถูกต้องครบถ้วนที่สุด

คดี"ชวน"ปรส.ไต่สวนจบแล้ว
     ประธานป.ป.ช.กล่าวต่อว่ากรณีที่พรรคเพื่อไทยเรียกร้องให้ป.ป.ช.ถอดถอนนายชวน หลีกภัย อดีตนายกรัฐมนตรี กรณีการบริหารงานผิดพลาดจนทำให้เกิดความเสียหายต่อองค์การปฏิรูประบบสถาบันการเงิน (ปรส.) จำนวน 6 แสนล้านบาทนั้น ในส่วนคดีปรส. ป.ป.ช.ดำเนินการไต่สวนเสร็จสิ้นเรียบร้อยแล้วพบว่าไม่มีนักการเมืองมีส่วนเกี่ยวข้องในคดีดังกล่าว ส่วนที่พรรคเพื่อไทยเรียกร้องให้ป.ป.ช.ดำเนินการถอดถอนนายชวนนั้นไม่สามารถทำได้ เนื่องจากตามกฎหมายในกรณีถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองต้องให้ส.ว.เป็นผู้ยื่นเรื่องถอดถอนต่อป.ป.ช. ดังนั้นป.ป.ช.จึงไม่มีอำนาจเข้าไปตรวจสอบเองได้ ป.ป.ช.จะเข้าไปถอด ถอนโดยที่ไม่มีส.ว.เป็นผู้ยื่นเรื่องเข้ามาไม่ได้ เป็นไปตามหลักกฎหมาย ไม่ได้หมายความว่าพอเป็นคดีของนายชวนแล้วป.ป.ช.ไม่กล้าแตะตามที่พรรคเพื่อไทยกล่าวหา

โฆษกปชป.โต้ปึ้งปมจำนำข้าว
      นายชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีที่นาย สุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล อดีตรองนายกฯ เรียกร้องให้คณะกรรมการป.ป.ช. ดำเนินคดีกับรัฐบาลในอดีต โดยอ้างความเสียหายจากโครงการรับจำนำข้าว รวมถึงคดีที่เกี่ยวข้องกับปรส.ว่า ขอชี้ให้เห็นในประเด็นดังต่อไปนี้ 1. กรณีที่นายสุรพงษ์พยายามเปรียบเทียบว่าในอดีตก็มีตัวเลขขาดทุนจากโครงการช่วยเหลือเกษตรกรในลักษณะต่างๆ จึงเรียกร้องให้เอาผิดกับผู้นำรัฐบาลในขณะนั้น ถือเป็นเรื่องที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง เนื่องจากในอดีตการช่วยเหลือเกษตรกรโดยการใช้จ่ายงบประมาณเป็นเรื่องปกติที่รัฐบาลที่มีจิตสำนึกต้องดำเนินการ แต่ในกรณีของน.ส.ยิ่งลักษณ์ไม่ใช่เพียงตัวเลขการขาดทุนจำนวนมาก แต่ที่สำคัญคือตัวเลขขาดทุนกว่า 5 แสนล้านบาท ที่มากกว่ายุคก่อนๆ หลายเท่าตัว เกิดจากการปล่อยปละละเลยให้มีการทุจริตคอร์รัปชั่น 

ยันรัฐบาลชวนเข้ามาแก้ปัญหา
      นายชวนนท์กล่าวต่อว่า 2.คดีความที่เกี่ยวข้องกับ ปรส. นั้น มีการตรวจสอบและดำเนินคดีผู้ที่เกี่ยวข้องตามกระบวนการและพยานหลักฐาน รัฐบาลนายชวนมิได้เป็น ผู้สร้างปัญหาต้นน้ำ ไม่ได้นำประเทศเข้าไปกู้เงินจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ตรงกันข้ามรัฐบาลพล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ที่เมื่อมีการลดค่าเงินบาทจนมีคำครหาว่าผู้ใกล้ชิดในรัฐบาลได้ประโยชน์จากเหตุการณ์ดังกล่าวจนเป็นที่มาของระบบเศรษฐกิจที่พังทลาย และพล.อ.ชวลิตลาออก นายชวนและพรรคประชาธิปัตย์จึงต้องก้าวเข้ามาแก้ไขวิกฤตเศรษฐกิจของประเทศ 3. วันนี้ประเทศเดินหน้าไปสู่การปฏิรูปแล้ว ขอเรียกร้องให้ทุกฝ่ายเลิกพฤติกรรมเก่าๆ ใครถูกใครผิดให้กระบวนการยุติธรรมตัดสิน อย่าเอาประชาชนมาเป็นเครื่องมือ ต่อรองทางการเมือง

โคทมนำเสวนาก้าวพ้นความขัดแย้ง
    วันเดียวกัน ที่มหาวิทยาลัยมหิดล สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา จัดโครงการ "เสาร์ถกแถลง ครั้งที่ 3" มีการเสวนาเรื่อง "ก้าวพ้นความขัดแย้ง สู่ความปรองดอง" ว่าด้วยรายละเอียดและลำดับความสำคัญของการทำงานสู่ความปรองดอง ทั้งแผนระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว โดยนายโคทม อารียา ผอ.ศูนย์ศึกษาและพัฒนาสันติวิธี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวสรุปแนวทางการออกจากความขัดแย้งว่า การวิเคราะห์สาเหตุความขัดแย้งโดยหลักแล้วต้องเริ่มดูจากบุคคลที่เกี่ยวข้องหรือตัวละคร เบื้องต้นพบว่ามี 3 คู่ คู่แรกคือฝ่ายจารีตนิยมกับชนชั้นกลางใหม่ หรือเสื้อเหลืองกับเสื้อแดง คู่ที่สอง ฝ่ายที่คิดว่าช่วงเวลานี้ต้องใช้อำนาจคืนความสุขกับฝ่ายที่คิดว่าประชาธิปไตยต้องอดทน และคู่ที่สาม ฝ่ายที่เชื่อระบอบเจ้านายและมองว่ากำลังถูกคุกคามจึงต้องเฝ้าระวังด้วยความหวงแหนกับฝ่ายที่หวงแหนระบอบเจ้านายเหมือนกัน แต่ต้องปรับตัวให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงเพื่อความยั่งยืน ทั้ง 3 คู่นี้มีทั้งความเหมือนและความแตกต่าง

แนะมองไปข้างหน้าเยียวยาอดีต
     นายโคทม กล่าวต่อว่าการสร้างกระบวน การปรองดองต้องมองไปข้างหน้า แต่ระยะสั้นขอให้เน้นการเยียวยาอดีต อาจใช้วิธีการสร้างความสมานฉันท์ที่ต้องเริ่มจากการยอม รับก่อนว่าฝ่ายใดทำผิดอะไรตรงไหนแล้ว ขอโทษกันหรือให้อภัย ไม่เน้นเรื่องการยอมรับผิดก่อนก็ได้ เรื่องทั้งหมดนี้ต้องมาคุยกันและต้องไม่สร้างปัญหาเพิ่มในปัจจุบัน เช่นการละเมิดสิทธิมนุษยชนในช่วงนี้ ดังนั้นแนวทางการปรองดองระยะสั้นคือต้องลดปัญหาในอดีต ไม่เพิ่มเงื่อนไขในปัจจุบัน ไม่ละเมิดสิทธมนุษยชน แนวทางนี้ดำเนินการได้ใน 2 ปี

จี้ตัวละครคืนดีอย่าคุยแค่ผิวๆ
     นายโคทม กล่าวอีกว่าขณะที่แนวทางเยียวยาระยะกลางเป็นสิ่งที่ สปช. กำลังดำเนินการอยู่ ผ่านการทำงานของคณะกรรมาธิการทั้ง 18 ด้าน ส่วนระยะยาวจำเป็นต้องอาศัยการสร้างวิสัยทัศน์ การสร้างคุณค่า การสร้างวาทกรรมที่ไปในทางเดียวกัน ไม่ใช่เชือดเฉือนกัน พร้อมกับสร้างคุณค่าประชาธิปไตยร่วมกันในสังคมไทย "ขณะนี้สังคมไทยไม่ได้อยู่หลังความขัดแย้ง แต่อยู่ในระหว่างความขัดแย้งที่ยืดเยื้อ ต้องหาสาเหตุด้านลึกของความขัดแย้งและต้องก้าวพ้นสาเหตุเหล่านั้น ช่วยให้เกิดการคืนดีระหว่างตัวละคร ต้องคุยกันด้วยข้อเท็จจริง อย่าคุยแค่ผิวๆ แล้วร่วมกันก้าวพ้นสิ่งเหล่านี้ไป หากเราไม่ทำจะกลายเป็นบาดแผลลุกลามต่อไป" นายโคทมกล่าว 
     ต่อข้อถามว่าจะะนำบทสรุปจากการเสวนาไปเสนอต่อสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) หรือไม่ นายโคทมกล่าวว่าคงจะไม่ทำเป็นกิจจะ ลักษณะขนาดนั้น แต่ดีใจอยู่ว่าคณะกรรมาธิ การยกร่างรัฐธรรมนูญเปรยว่าจะมีบทเฉพาะ กาลว่าด้วยการปฏิรูปและการปรองดอง ควรมีระยะเวลาดำเนินงานสัก 4 ปี เป็นอย่างน้อย

วางแผนปรองดองไว้ 3 ระยะ
       ในช่วงบ่ายเปิดโอกาสให้ผู้ร่วมเสวนาแบ่งกลุ่มย่อยหารือรายละเอียดเสนอแนะแผนนำไปสู่ความปรองดอง ประกอบด้วยบุคคลทั่วไปและนักวิชาการ อาทิ น.ส.นฤมล ทับจุมพล อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ น.ส.ประทับจิต นีละไพจิตร อาจารย์ประจำสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา จากนั้นนายโคทมแถลงผลการหารือว่าการวางแผนเพื่อการปรองดองสรุปได้ 3 แผนดังนี้ ระยะสั้น ตั้งแต่ตอนนี้จนถึง 2 ปี รวมถึงการเยียวยาอดีต โดยการชดเชย การยกโทษ แลกโทษหรือลงโทษ ให้แก่ผู้ชุมนุมทางการเมือง ผู้ขัดคำสั่ง คสช. รวมทั้งการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐาน ขณะที่ระยะกลาง ตั้งแต่ตอนนี้ จนถึง 5 ปี เริ่มต้นปฏิรูปโครงสร้างรวมทั้งการต่อสู้ทางความคิด โดยอาศัยเรื่องเล่า อุปมา วาทกรรม ในเรื่องที่เป็นสาเหตุหลักของความขัดแย้ง พัฒนากระบวนการถกแถลง เพิ่มคุณภาพการมีส่วนร่วม และระยะยาว ตั้งแต่ตอนนี้จนถึง 10 ปี ซึ่งรวมถึงการสร้างวิสัยทัศน์และคุณค่าร่วม ก้าวพ้นความสุดโต่งอันเป็นสาเหตุหลักของความขัดแย้ง

เผยเปลี่ยนสถานที่เหตุคสช.ห้าม
     ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่าการเสวนา ดังกล่าวต้องเปลี่ยนสถานที่จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมาเป็นมหาวิทยาลัยมหิดล เนื่องจากเจ้าหน้าที่ทหารของ คสช. พิจารณาหัวข้อการอภิปรายแล้วเห็นว่าไม่เหมาะสม จึงขอให้สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษางดจัดงาน แต่ทางสถาบันยืนยันว่าเนื้อหาการอภิปรายวางอยู่บนหลักวิชาการ หากจะขอให้งดงานเสวนาต้องส่งหนังสือสั่งห้ามอย่างเป็นทางการมาให้ สุดท้ายมีข้อสรุปร่วมกันให้ย้ายสถานที่มาจัดที่มหาวิทยา ลัยมหิดล และให้ตัดหัวข้อการอภิปราย เรื่องอำนาจนิยมอันจำเป็นแก่การคืนความสุขกับประชาธิปไตยต้องทนกันได้ และเรื่องการปกป้องระบบเจ้านายที่ถูกคุกคามกับการปรับปรุงระบบเจ้านายให้โปร่งใส ทิ้งไป
     ทั้งนี้ โครงการเวทีเสาร์ถกแถลงยังนัดจัดงานเสวนาครั้งถัดไปในวันที่ 22 พ.ย. เวลา 08.30 - 16.30 น. หัวข้อ "ระบบรัฐสภาแบบไหน ความหวังประชาธิปไตย" ที่ห้องประชุมศูนย์ศึกษาสันติภาพและความขัดแย้ง อาคารวิทยพัฒนา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

สมาคมนักข่าวฯจี้ยุติคุกคามสื่อ
      เมื่อวันที่ 15 พ.ย. สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย ออกแถลงการณ์เรื่อง กรณีมีบุคคลอ้างเป็นนายทหารกลุ่มหนึ่งแทรกแซง ข่มขู่คุกคามสื่อมวลชน โดยเนื้อหาระบุว่าตามที่เกิดเหตุการณ์มีนายทหารกลุ่มหนึ่งเข้าไปขอตรวจสอบเนื้อหารายการ "เสียงประชาชน ต้องฟังก่อนปฏิรูป" ของสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส และกดดันให้ผู้บริหารสถานีเปลี่ยนตัวผู้ดำเนินรายการดังกล่าวนั้น สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทยถือว่าเป็นการกระทำที่เข้าข่ายแทรกแซงเสรีภาพการนำเสนอข่าว และเป็นการข่มขู่คุกคามสื่อมวลชนโดยตรง 
      สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย ยืนยันในหลักการการใช้เสรีภาพสื่อมวลชนในการรายงานข่าว การแสดงความเห็นอย่างเป็นธรรมด้วยความรับผิดชอบ และเป็นโอกาสในการสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนต่อการแสดงความคิดเห็นในประเด็นต่างๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ สอดคล้องกับสภาพการณ์ของประเทศไทยในปัจจุบัน ซึ่งกำลังอยู่ในกระบวนการปฏิรูป ซึ่งรวมถึงการปฏิรูปด้านสื่อมวลชนด้วย เพราะฉะนั้นการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของภาคส่วนต่างๆ ของสังคมในการแสดงความเห็นที่หลากหลายและรอบด้านย่อมสำคัญมากเป็นพิเศษ
     สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย จึงขอเรียกร้องดังนี้ 1.ขอคัดค้านการใช้ท่าทีที่เข้าข่ายข่มขู่และคุกคามการทำหน้าที่ของสื่อมวลชนและบุคลากรของสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส และเรียกร้องให้หยุดการแอบอ้างคำสั่งที่ไม่สามารถพิสูจน์ที่มาที่ไปได้ 2.ขอเรียกร้อง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะนายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) สั่งการให้ตรวจสอบว่ากลุ่มทหารที่เข้าไปกระทำการคุกคามนั้นเป็นนายทหารท่านใด สังกัดหน่วยงานไหนของกองทัพ เพื่อป้องกันการแอบอ้าง ขณะเดียวกันขอให้แสดงท่าทีและจุดยืนที่ชัดเจนต่อบทบาทสื่อมวลชน 3.ขอเรียกร้องให้กรรมการนโยบายและฝ่ายบริหารสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส ปกป้องและคุ้มครองเสรีภาพของบุคลากรในการทำหน้าที่ที่สอดคล้องกับจรรยาบรรณวิชาชีพของสื่อมวลชนด้วย
      วันเดียวกัน สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย เรียกร้องรัฐบาลให้ทบทวนท่าทีที่แสดงออกต่อสื่อมวลชนที่มีการคุกคามแทรกแซงสิทธิเสรีภาพของสื่อมวลชนในทุกรูปแบบ พร้อมขอให้รัฐบาลกำชับไปยังฝ่ายความมั่นคงระมัดระวังในการใช้ดุลพินิจในการดำเนินการต่างๆ ต่อการปฏิบัติหน้าที่ของสื่อมวลชนทุกแขนง ทั้งวิทยุ โทรทัศน์ หนังสือพิมพ์ และสื่อออนไลน์
     ทั้งนี้ ในสัปดาห์หน้าจะมีการเคลื่อนไหวของสื่อมวลชนทุกแขนงและองค์กรวิชาชีพ เพื่อให้ยกเลิกประกาศหรือคำสั่งที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติหน้าที่ของสื่อมวลชน โดยเฉพาะประกาศฉบับที่ 97 และ 103 ซึ่งจำกัดสิทธิเสรีภาพของสื่อมวลชน ที่ส่งผลกระทบไปยังสิทธิเสรีภาพโดยรวมของประชาชนในการแสดงความคิดเห็น

โพลหนุนปฏิรูปชี้มาถูกทางแล้ว
     วันที่ 15 พ.ย. ศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ (กรุงเทพโพลล์) ร่วมปฏิรูปประเทศไทย เผยผลสำรวจความคิดเห็นประชาชน เรื่อง "ประชาชนเห็นอย่างไรกับทิศทางการปฏิรูปการเมืองของประเทศไทย" โดยเก็บข้อมูลจากประชาชนทุกภูมิภาคทั่วประเทศจำนวน 1,115 คน พบว่า ส่วนใหญ่ร้อยละ 62.1 เห็นว่าทิศทางการปฏิรูปการเมืองของประเทศไทยในปัจจุบันดีขึ้นและไปถูกทางแล้ว ขณะที่ร้อยละ 34.5 เห็นว่าเหมือนเดิม ยังไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง
      ส่วนอุปสรรคสำคัญที่ทำให้ประเทศไทยยังไม่สามารถปฏิรูปทางการเมืองได้คือ กลุ่มผู้ได้รับผลประโยชน์หรือกลุ่มอำนาจทางการเมือง ร้อยละ 68.1 รองลงมาคือ กลุ่มนัก การเมืองไทยในปัจจุบัน ร้อยละ 52.6 การเปลี่ยนรัฐธรรมนูญบ่อยครั้ง ร้อยละ 39.3 และความเข้าใจในระบอบประชาธิปไตยของประชาชน ร้อยละ 34.9
    สำหรับ ความเชื่อมั่นต่อคณะกรรมาธิการปฏิรูปการเมืองที่มีนายสมบัติ ธำรงธัญวงศ์ เป็นประธาน จะปฏิรูปด้านการเมืองให้ประสบผลสำเร็จได้ ส่วนใหญ่ร้อยละ 43.3 เชื่อมั่นค่อนข้างมากถึงมากที่สุด ขณะที่ร้อยละ 37.4 เชื่อมั่นค่อนข้างน้อยถึงน้อยที่สุด และ ร้อยละ 19.3 ไม่แน่ใจ
      ต่อข้อถามที่ว่าหากมีการเลือกตั้ง อยากให้เลือกตั้งนายกรัฐมนตรีแบบใด ร้อยละ 34.2 อยากเลือกจากรายชื่อผู้สมัครโดยตรง รองลงมาร้อยละ 21.7 อยากเลือกโดยอ้อมแบบให้ ส.ส. ส.ว. และสภาประชาชนตามกลุ่มอาชีพต่างๆ เป็นผู้เลือกนายกฯ และร้อยละ 16.9 อยากเลือกโดยตรงจากพรรคการเมือง โดยพรรคที่ได้คะแนนมากที่สุด หัวหน้าพรรคจะเป็นนายกฯ
    สุดท้ายเมื่อถามว่าอยากให้รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มีระยะเวลาการทำงานเป็นอย่างไร ร้อยละ 64 อยากให้ทำงานจนกว่าประเทศจะเรียบร้อยในทุกๆ ด้าน โดยอาจมากกว่า 1 ปี (ลดลงจากผลสำรวจครั้งก่อนร้อยละ 2.4) ขณะที่ร้อยละ 36 อยากให้ทำงานแล้วเสร็จภายใน 1 ปีและจัดการเลือกตั้ง