วันที่ 09 กันยายน พ.ศ. 2557 ปีที่ 24 ฉบับที่ 8686 ข่าวสดรายวัน

ครม.ชิ่ง! ไม่ใช้ห้องไมค์แพง แฉซ้ำงานวิจัยข้าว หลักฐานที่ปปช.ใช้ ของเก่าสมัยปี 48 ปานเทพอ้างมีอีก ผลศึกษาของสตง. ปูเชื่อสัญญาบิ๊กตู่


กลับกทม. - ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าฯกทม. ถือฤกษ์ 09.00 น. เข้าทำงานที่ศาลาว่าการกรุงเทพฯ เป็นวันแรก หลังศาลอุทธรณ์ยกคำร้อง กกต.แจกใบเหลือง โดยมีข้าราชการมาต้อนรับและแสดงความยินดีจำนวนมาก เมื่อวันที่ 8 ก.ย.

        เปิดงานวิจัยทีดีอาร์ไอเรื่องจำนำข้าวที่ป.ป.ช. ใช้เล่นงานอาญายิ่งลักษณ์ ไม่ใช่แค่ทำขึ้นในปี 2554เท่านั้น หรือข้อมูลปี 2551/2552 สมัยรัฐบาลสมัครเท่านั้น แต่ย้อนไปปี 2548/2549 ปลายสมัยรัฐบาลทักษิณ ด้านประธานป.ป.ช. ยอมรับเป็นเรื่องจริง แต่ไม่ใช่หลักฐานทั้งหมด อ้างยังมีอีกหลักฐานจากสตง. เล็งส่ง วิชา มหาคุณ-สรรเสริญ พลเจียก ร่วมเป็นกรรมการร่วมกับอสส. ปนัดดาแจงอีก ระบุไม่มีทุจริตโครงการปรับปรุงทำเนียบซื้อไมค์แพง สั่งอธิบดีกรมโยธาฯ ชี้แจงอีก ถก ครม.นัดแรกวันนี้ เลี่ยงใช้ห้องไมค์ตัวละ 1.45 แสน อ้างสียังไม่แห้ง เฟอร์นิเจอร์ไม่เรียบร้อย สั่งรัฐมนตรีสวมใส่ผ้าไทยชุดพระราชทาน ปู บินอุดรฯ ร่วมพิธีศพอดีตส.ส. ลั่นพร้อมต่อสู้คดีจำนำข้าว มั่นใจพยานหลักฐาน

บิ๊กตู่นั่งทำงานที่ทบ.จนเกษียณ
      เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 8 ก.ย. ที่บก.ทบ. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคสช. ในฐานะผบ.ทบ. เป็นประธานการประชุมหน่วยขึ้นตรงกองทัพบก (นขต.ทบ.) ระดับชั้นนายพล ประกอบด้วยระดับกองทัพภาค กองพล และกองบังคับการกรม ทั้งนี้ เป็นการประชุมหน่วยขึ้นตรงกองทัพครั้งสุดท้ายในวาระที่พล.อ.ประยุทธ์ดำรงตำแหน่งผบ.ทบ. ซึ่งจะมอบแนวทางการทำงานและกำชับเรื่องการช่วยเหลือประชาชนจากสถานการณ์ภัยพิบัติ และอุทกภัยในพื้นที่ต่างๆ โดยเฉพาะพื้นที่กองทัพภาคที่ 3 ที่ ขณะนี้มีเหตุการณ์น้ำท่วม และการแก้ไขปัญหาความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ รวมจนถึงการพัฒนากองทัพเพื่อเตรียมก้าวสู่ประชาคมอาเซียน 
      ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พล.อ.ประยุทธ์จะยังนั่งทำงานในบก.ทบ.จนกว่าจะเกษียณอายุราชการในปลายเดือนก.ย. ก่อนเข้าปฏิบัติหน้าที่นายกฯ ระหว่างนี้จะเข้านั่งทำงานในทำเนียบรัฐบาลเฉพาะการประชุม ครม.ในวันอังคารเท่านั้น

คสช.รับกฎอัยการศึกมีภาพลบ
      ต่อมาพ.อ.วินธัย สุวารี รองโฆษกกอง ทัพบก แถลงผลการประชุมหน่วยว่า ที่ประชุม พล.อ.ประยุทธ์เน้นย้ำการทำงาน โดยในเรื่องหลักๆ กองทัพบกยังคงรับผิดชอบอยู่ ส่วนการเคลื่อนไหวของกลุ่มต่อต้าน คสช. นั้นในทางปฏิบัติยังไม่อยู่ในระดับเกินกว่าที่ คสช.กำหนดไว้ ส่วนการแก้ปัญหา คสช. ยังยึดนโยบายทำความเข้าใจ
       เมื่อถามว่าที่ประชุมได้พูดถึงการยกเลิก กฎอัยการศึกหรือไม่ พ.อ.วินธัยกล่าวว่า การประกาศกฎอัยการศึกไม่ได้ส่งผลกระทบกับประชาชน แต่อาจมีผลต่อกลุ่มคนที่ต้องการกระทำผิด ยอมรับว่าภาพลักษณ์และชื่อของกฎอัยการศึกจะส่งผลกระทบกับมุมมองของต่างประเทศอยู่บ้าง ซึ่งก่อนหน้านี้หัวหน้า คสช.ระบุว่าในอนาคตจะมีการผ่อนปรนและคลี่คลายในโอกาสต่อไป แต่ยังไม่ได้กำหนดเวลา ทุกอย่างขึ้นอยู่กับการประเมินสถาน การณ์รอบด้านที่เกี่ยวกับความมั่นคง รวมถึงการทำลายทรัพยากรป่าไม้
       กฎอัยการศึกเป็นส่วนสำคัญทำให้เจ้าหน้าที่จับกุมผู้กระทำความผิดได้ ภาพของสถานการณ์ที่ประชาชนเห็นอยู่ขณะนี้อาจอยู่ในอีกมิติหนึ่ง แต่ในมุมมองของเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง ประเมินในอีกระดับหนึ่งโดยเฉพาะหน่วยในพื้นที่ของตัวเอง ซึ่งการยกเลิกกฎอัยการศึกอยู่ระหว่างการประเมินผลของ ผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่ จะเห็นว่าเจ้าหน้าที่หลีกเลี่ยงบังคับใช้กฎอัยการศึก ซึ่ง 2 เดือนที่ผ่านมาโดยใช้กฎหมายปกติดำเนินการ พ.อ. วินธัยกล่าว

สวมหมวกใบไหนก็ยึดประชาชน
      ด้านพ.อ.หญิงศิริจันทร์ งาทอง รองโฆษกกองทัพบก กล่าวว่า การทำงานของ คสช.ต่อจากนี้ทางหัวหน้า คสช.เคยระบุว่ารัฐบาลมีหน้าที่บริหารราชการในสภาวะปกติ ส่วน คสช.จะต้องสร้างสภาวะเพื่อเอื้อประโยชน์ในการบริหารราชการ จัดระเบียบสังคม มั่นใจว่าการทำงานทุกส่วนไม่ว่าหัวหน้า คสช.จะสวมหมวกใบใดจะยึดผลประโยชน์ส่วนรวมเป็นที่ตั้ง เพราะเรามีความชัดเจนในมาตรการแผนงานที่ต่อเนื่อง และการสวมหมวก 2 ใบของหัวหน้าคสช. สามารถดำเนินการและยึดผลประโยชน์ของประชาชนเป็นที่ตั้ง 
       รองโฆษก ทบ.กล่าวต่อว่า ส่วนความจำเป็นที่ต้องมี คสช.แม้จะมีรัฐบาลแล้วนั้น ทุกอย่างเป็นไปตามโรดแม็ปและตามรัฐ ธรรมนูญฉบับชั่วคราวระบุไว้ เพื่อสร้างพื้นฐานในหลายด้านของประเทศ ที่ คสช.อาสาเข้ามาทำงานให้ ซึ่งขณะนี้งานยังไม่จบ ยังอยู่ในโรดแม็ประยะที่ 2 จึงจำเป็นต้องคง คสช.เพื่อปูทางสู่ระยะที่ 3 ในเรื่องการปรองดอง รวมถึงการสร้างระบอบประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ แต่การบริหารราชการนั้นจำเป็นต้องมีกลไกปกติดำเนินการ

ปนัดดาโยนอธิบดีโยธาแจงไมค์
      เมื่อเวลา 09.20 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล ม.ล. ปนัดดา ดิศกุล รมต.ประจำสำนักนายกฯ และปลัดสำนักนายกฯ ให้สัมภาษณ์ถึงการจัดซื้อจัดจ้างอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และไมโครโฟนห้องประชุมครม.ที่มีราคาสูงว่าอยากให้ทุกอย่างโปร่งใสเรียบร้อย ขอชี้แจงว่าในข้อเท็จจริงไม่ได้ปัดหรือโยนความรับผิดชอบ ตนเป็นข้าราชการถือเป็นทีมงานเดียวกัน ต้องร่วมรับผิดชอบในเรื่องต่างๆ ตนมีภารกิจหลักคือดูแลติดตามการซ่อมอาคารในทำเนียบรัฐบาล ส่วนรายละเอียดเรื่องเทคโนโลยีในห้องประชุมครม.นั้น อธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง เป็นผู้ดูแล และยังไม่ได้ลงนามในสัญญาจัดซื้อตามที่หลายฝ่ายตั้งข้อสังเกต เพราะกรมโยธาฯจะดูความเหมาะสม 
     ม.ล.ปนัดดา กล่าวว่า เข้าใจว่าข้าราชการอยากใช้ของดี แต่หากสิ้นเปลืองเกินความจำเป็นก็ใช้เครื่องเสียงตรงสะพานดำไปดีกว่า เชื่อว่าเมื่อทุกอย่างเรียบร้อย อธิบดีกรมโยธาฯจะมีคำชี้แจงให้ทราบโดยเร็ว หากปล่อยไว้นานจะกลายเป็นประเด็นการเมือง จากที่ไม่ใช่เรื่องจริงแต่พูดกันจนคนคิดตาม 

ไม่มีใครกล้าโกง-อย่าโยงการเมือง
       ใครจะกล้าทุจริตคดโกง เพราะคนเกรง ใจนายกฯและหัวหน้าคสช. ห้องที่ผมพาคณะสื่อไปชมนั้น อุปกรณ์เครื่องมือเครื่องใช้ที่มีทุกอาคารในทำเนียบต้องใช้การได้ดี ได้มาโปร่งใส อยู่ได้นาน และบริษัทที่ดูแลก็พูดกับอธิบดีกรมโยธาฯว่าเป็นเกียรติที่ได้มาดูแลพื้นที่ที่สำคัญของชาติและเป็นมรดกของแผ่นดิน ไม่มีใครทุจริตคดโกง ข้าราชการไม่กล้าทำอะไรที่ดูหมิ่นตนเองหรือฉ้อราษฎร์บังหลวง จึงไม่อยากให้โยงเรื่องนี้มาเป็นเรื่องการเมือง ม.ล.ปนัดดากล่าวและว่า ส่วนการตกแต่งห้องต่างๆ เช่น เฟอร์นิเจอร์หรือผ้าม่านของตึกไทยคู่ฟ้าที่เปลี่ยนไปจากเดิมนั้น คิดว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพยายามดูแลให้ เหมาะสม ยอมรับว่าอาจไม่งดงามทั้งหมด แต่เป็นความประณีตของผลงาน
      เมื่อถามว่า หลังทำงานเสร็จจะเปิดให้ตรวจสอบหรือไม่ ม.ล.ปนัดดากล่าวว่า กรมโยธาฯเตรียมพร้อมทุกอย่างเพราะทำงานอย่างตั้งใจ ไม่ใช่ทำคุณบูชาโทษ 
       เมื่อถามย้ำว่า นายกฯย้ำเรื่องการต่อต้านทุจริต แต่การที่หน่วยงานรัฐตั้งราคาจัดซื้อจัดจ้างที่มีราคาสูงเกินจริง จะปรับปรุงอย่างไร ม.ล.ปนัดดากล่าวว่า นายกฯถือเรื่องนี้เป็นวาระสำคัญเพราะปัญหาที่ผ่านมาคือการใช้จ่ายสุดโต่ง หากเราประหยัดให้ได้ 30 เปอร์ เซ็นต์ สิ่งต่างๆ จะเกิดความเจริญอย่างมาก และการตรวจสอบของสื่อก็ช่วยสะท้อนการทำงาน ทั้งนี้ มีการเผยแพร่รายละเอียดการใช้งบซ่อมแซมทำเนียบไปบ้างแล้วว่าต่ำกว่าที่กำหนดไว้และจะให้สื่อได้ดูอย่างแน่นอนเพราะไม่ใช่ความลับ ขอย้ำว่าการซ่อมแซมทำเนียบครั้งนี้ไม่มีทุจริตคดโกงม.ล.ปนัดดากล่าวว่าตนยังไม่ทราบว่าได้ดูแลงานด้านใด แต่อยากทำงานใกล้ชิดสื่อ ถ้าเป็นกรมประชาสัมพันธ์ก็ถือว่าใกล้ชิดกับสื่อ 

คสช.โยน-ชี้เป็นเรื่องทำเนียบ
       เมื่อเวลา 16.00 น.พ.อ.หญิง ศิริจันทร์ งาทอง รองโฆษกกองทัพบกและทีมโฆษกคสช. กล่าวถึงกรณีมีการวิจารณ์การจัดซื้อจัดจ้างไมโครโฟนที่ติดตั้งในห้องประชุมครม. มีราคาแพงเกินจริงว่า เรื่องนี้ไม่อยู่ในความรับผิดชอบของคสช.และกองทัพบก เป็นเรื่องของทำเนียบรัฐบาลและส่วนราชการที่เกี่ยว ข้องที่มีความพร้อมชี้แจง และพล.อ. ประยุทธ์ ก็ยังไม่ได้พูดถึงเรื่องดังกล่าว ทั้งนี้นโยบายของพล.อ.ประยุทธ์ คือผิดเป็นผิด ทุจริตก็คือทุจริต ทำไม่ดีไม่ได้ ทุกอย่างต้องโปร่งใส ตรวจสอบได้
       วันเดียวกัน นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิ การสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ยื่นหนังสือร้องเรียนต่อผู้ว่าการสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) และป.ป.ช. เพื่อขอให้ตรวจสอบกระบวนการจัดซื้อจัดหาไมโคร โฟนทำเนียบรัฐบาลที่แพงกว่าปกติ ซึ่งเป็นการดำเนินการตามระเบียบสํานักนายกฯว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2535 และพ.ร.บ.ว่าด้วยกป.ป.ช. พ.ศ. 2554 มาตรา 103/7 หรือไม่ ทั้งนี้หากพบว่ากระบวนการจัดซื้อจัดหาไม่ถูกต้อง ให้ดำเนินการเอาผิดกับผู้ที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย หัวหน้าคสช. ในฐานะผู้อนุมัติงบประมาณ 252 ล้านบาท ม.ล.ปนัดดา ในฐานะผู้ควบคุมดูแล พล.ต.อ.อดุลย์ ในฐานะผู้รับผิดชอบโครงการ สำนักเลขาธิการนายกฯ และอธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง

ทำเนียบแบ่งห้องทำงานลงตัว
       สำหรับ บรรยากาศการรักษาความปลอด ภัยในทำเนียบนั้นมีความสมบูรณ์ 100 เปอร์เซ็นต์ โดยวันที่ 7 ก.ย. เจ้าหน้าที่ชุดปฏิบัติการพิเศษ ชุดเก็บกู้และทำลายวัตถุระเบิด (อีโอดี) ของตำรวจและทหารได้ตรวจความพร้อมทั้งตึกสันติไมตรี และตึกไทยคู่ฟ้าแล้ว วันเดียวกันนี้ เจ้าหน้าที่ตำรวจสันติบาลประจำทำเนียบได้วางจุดตามประตูเข้า-ออกทั้งหมด โดยเฉพาะที่ประตู 8 (ประตูดอยคำด้านหลังตึกบัญชาการ 1) และห้ามรถข้าราชการและเจ้าหน้าที่เลี้ยวขวาผ่านด้านข้างตึกบัญชาการ 1 โดยนำรั้วเหล็กมากั้นไว้ ให้รถทุกคันวิ่งตรงไปเลี้ยวขวาที่ด้านหลังตึกสันติไมตรีแทน เจ้าหน้าที่ให้เหตุผลว่าเป็นคำสั่งของผู้บังคับบัญชา เนื่องจากนายกฯ และครม.เริ่มเข้าปฏิบัติงานแล้ว นอกจากนี้เจ้าหน้าที่ยังตรวจสติ๊กเกอร์ของรถทุกคันที่เข้า-ออก ภายในทำนียบ
       ส่วนห้องทำงานที่ตึกบัญชาการ 1 มีการแบ่งห้องเรียบร้อยแล้ว โดยห้องทำงานชั้น 1 มีห้องทำงานของม.ล.ปนัดดา ชั้น 2 เป็นห้องทำงานของนายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ และนายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ รมต.ประจำสำนักฯ ชั้น 3 แบ่งเป็นห้องทำงานของพล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร รองนายกฯ และรมว.ต่างประเทศ และนายยงยุทธ ยุทธวงศ์ รองนายกฯ และที่ชั้น 4 เป็นห้องทำงานของ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล และพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และรมว.กลาโหม


ตามนัด - นายวรเจตน์ ภาคีรัตน์ อาจารย์ มธ. และนักวิชาการกลุ่มนิติราษฎร์ เดินทางมาขึ้นศาลทหารกรุงเทพ ตามที่คณะตุลาการศาลทหารฯ นัดสอบคำให้การ ในคดีฝ่าฝืนไม่มารายงานตัวตามคำสั่งของ คสช. เมื่อวันที่ 8 ก.ย.

ให้รมต.แต่งผ้าไทยพระราชทาน
       ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในช่วงบ่ายมีเจ้าหน้าที่ฝ่ายเทคนิคของกองทัพบกมาตรวจดูความพร้อมอุปกรณ์ ระบบการสื่อสารและอินเตอร์ เน็ตบนห้องทำงานของนายกฯ และตึกไทยคู่ฟ้า และทดสอบระบบปั่นไฟสำรองบริเวณข้างตึกสันติไมตรีเผื่อกรณีฉุกเฉิน นอกจากนี้เจ้าหน้าที่ยังทำความสะอาดศาลพระภูมิเจ้าที่ศาลตายาย สิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำทำเนียบ เพื่อเตรียมไว้ให้พล.อ.ประยุทธ์สักการะก่อนเริ่มปฏิบัติหน้าที่นายกฯ ในวันที่ 9 ก.ย. ซึ่งบรรยากาศเป็นไปอย่างคึกคัก เจ้าหน้าที่ได้เตรียมงานในส่วนความรับผิดชอบของตนเองเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาขึ้น ตามคำสั่งว่าทุกอย่างต้องพร้อม 100 เปอร์เซ็นต์
       รายงานข่าวแจ้งว่า คณะทำงานของพล.อ. ประยุทธ์ ได้ประสานมายังม.ล.ปนัดดาขอความร่วมมือให้ครม.ทุกคนพร้อมใจกันแต่งชุดผ้าไทยพระราชทานแขนยาวเข้าร่วมประชุมครม.วันที่ 9 ก.ย. นี้ เพื่อให้เกิดความสวยงามและอนุรักษ์วัฒนธรรมไทย 

อดุลย์เลี้ยงที่ปรึกษาสำนักนายกฯ
      ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รมว.การพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ในฐานะรองหัวหน้าคสช.ฝ่ายกิจการพิเศษ ยังคงเข้ามาปฏิบัติหน้าที่ที่ทำเนียบตามปกติ มีบุคคลใกล้ชิดทยอยเข้าแสดงความยินดี และเวลา 12.00 น. พล.ต.อ.อดุลย์ได้เชิญที่ปรึกษาประจำสำนัก นายกฯ รับประทานอาหารกลางวันร่วมกัน อาทิ นายธาริต เพ็งดิษฐ์ นายกิตติพงษ์ กิตยารักษ์ นายโชติ ตราชู นางศรีรัตน์ รัษฐปานะ ขาดเพียงพล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร และพ.ต.อ.ทวี สอดส่อง ที่ติดภารกิจ คาดว่าเป็นการนัดพบครั้งสุดท้าย ก่อนที่พล.ต.อ. อดุลย์จะย้ายไปทำงานในกระทรวงพม.อย่างเป็นทางการหลังรับประทานอาหารกว่า 1 ชั่วโมง นายกิตติพงษ์เผยว่า มาพูดคุยตามปกติ ไม่มีอะไรเป็นพิเศษ 
      เมื่อถามว่า นายกฯ มอบให้นายกิตติพงษ์ช่วยงานด้านใดบ้างหรือไม่ นายกิตติพงษ์กล่าวว่า ตนช่วยงานอยู่ข้างนอกในเรื่องปฏิรูปประเทศ เพราะเป็นสมาชิกในเครือข่ายเดินหน้าปฏิรูปที่จะช่วยสร้างเครือข่ายภาคประชาสังคม ทำงานคู่ขนานกับสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) เราหวังว่าจะมีสมาชิกของเครือข่ายได้รับการสรรหาเป็นสปช.ด้วย เพื่อช่วยทำให้บ้านเมืองเดินไปข้างหน้าได้ 
      ต่อมาเวลา 13.15 น. ข้าราชการรัฐสภานำโดยนางนรรัตน์ พิมเสน เลขาธิการวุฒิสภา ในฐานะเลขาธิการสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) นำกระเช้าดอกไม้และรูปภาพมามอบต่อพล.ต.อ.อดุลย์ เพื่อแสดงความยินดีและใช้เวลาพูดคุยนาน 30 นาที 

หม่อมอุ๋ยฤกษ์ 09.00น.เข้าทำเนียบ
    ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกฯ ถือฤกษ์เวลา 09.00 น. เดินทางเข้ามายังทำเนียบรัฐบาลเป็นวันแรก ด้วยรถยนต์ส่วนตัว บีเอ็มดับเบิลยู สีอิฐ โดยอัญเชิญพระพุทธรูปมาไว้ที่ห้องทำงานบนชั้น 4 บนตึกบัญชาการ 1 และใช้เวลาอยู่ที่ห้องทำงานจนถึงเวลา 11.45 น. ก่อนกลับออกไป โดยระบุเพียงว่า วันนี้มาดูห้องทำงาน ส่วนเรื่องแถลงนโยบายด้านเศรษฐกิจนั้น รอให้ นายกฯ เป็นผู้แถลงก่อน 
       เวลา 09.15 น. น.ส.เรณู ตังคจิรางกูร รองเลขาธิการนายกฯ รักษาการเลขาธิการนายกฯ นำชุดรักษาความปลอดภัยล่วงหน้าของ พล.อ. ประยุทธ์ขึ้นตรวจดูความพร้อมที่ห้องทำงานบนตึกไทยคู่ฟ้า และห้องประชุมครม. ชั้น 5 ตึกบัญชาการ 1 รวมถึงลิฟต์ขึ้น-ลง และห้องรับรองนายกฯ เพื่อตรวจดูความพร้อมในการประชุม ครม.ครั้งแรกของรัฐบาลประยุทธ์ 1 ในเช้าวันที่ 9 ก.ย. รวมทั้งมีเจ้าหน้าที่ตรวจอุปกรณ์ภายในตึกนารีสโมสร หลังปรับปรุงซ่อมแซมเสร็จ เพื่อเตรียมแถลงข่าวอย่างเป็นทางการครั้งแรกของรัฐบาลเช่นกัน

เลี่ยงไม่ใช้ห้องไมค์แพงประชุมครม.
       ต่อมาเวลา 14.30 น. ทีมรักษาความปลอดภัยพล.อ.ประยุทธ์ พร้อมด้วย เจ้าหน้าที่จากศูนย์รักษาความปลอดภัยแห่งชาติ(ศรภ.) ตำรวจสันติบาลประจำทำเนียบ เจ้าหน้าที่จากสำนักสถานที่และรักษาความปลอดภัย ทำเนียบและเจ้าหน้าที่สำนักโฆษกสำนักนายกรัฐมนตรี เข้าตรวจความเรียบร้อยภายในตึกสันติไมตรีทั้งหลังในและหลังนอก หลังได้รับการประสานจากคณะทำงานของนายกฯ ให้เปลี่ยนสถานที่ประชุมครม.นัดพิเศษ เพื่อเตรียมแถลงนโยบายรัฐบาลต่อสนช. พร้อมทั้งจะมีการแถลงผลงานคสช. 3 เดือนให้ที่ประชุมครม.รับทราบด้วย จากเดิมเตรียมห้องประชุม 501 ตึกบัญชาการ 1 ซึ่งเร่งปรับปรุงระบบต่างๆ ไว้รองรับการประชุมในวันที่ 9 ก.ย. เวลา 09.30 น. ไปใช้ตึกสันติไมตรี หลังใน เป็นสถานที่ประชุมแทน
       นอกจากนั้น เจ้าหน้าที่ฝ่ายสถานที่จัดเตรียมห้องประชุมตึกสันติไมตรี หลังนอก ไว้เตรียมพร้อมให้นายกฯและผู้ที่ได้รับมอบหมายทำหน้าที่แถลงข่าวหลังประชุม ทั้งนี้ หลังจากรัฐบาลแถลงนโยบายต่อสนช.เสร็จสิ้นจึงกลับมาใช้ห้องประชุม 501 ประชุมครม.ตามปกติ 
      รายงานข่าวแจ้งว่า สาเหตุที่เปลี่ยนห้องประชุมครม. เนื่องจากห้องประชุม 501 ยังไม่พร้อมรองรับการประชุมเพราะยังมีปัญหาเรื่องกลิ่นของสีและเฟอร์นิเจอร์ที่ซ่อมแซมใหม่ และต้องตรวจสอบระบบการรักษาความปลอดภัยอีกครั้ง ทั้งนี้ ตำรวจสันติบาลประจำทำเนียบได้ประสานขอความร่วมมือให้สื่อมวลชนสังเกตการณ์ได้เพียงด้านนอกของตัวอาคารเท่านั้น และจะเปิดให้เข้าได้เฉพาะช่วงแถลงข่าว

มท.เตรียมโผโยกย้ายรอบิ๊กป๊อก
    ที่โรงแรมเซ็นทราศูนย์ราชการ ถ.แจ้ง วัฒนะ นายวิบูลย์ สงวนพงศ์ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า หลังประชุมครม.ในวันที่ 9 ก.ย.และรัฐบาลแถลงนโยบายต่อสนช.แล้ว คาดว่าพล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย จะเข้าทำงานที่กระทรวงมหาดไทยในวันที่ 15 ก.ย. แต่กำหนดอาจเปลี่ยนแปลงได้ตามความเหมาะสมของรัฐบาล ซึ่งกระทรวงเตรียมรายงานผลการปฏิบัติงานและงานที่คสช.มอบหมาย รวมถึงเรื่องที่จำเป็นต้องพิจารณาเร่งด่วนให้ทราบ 
       หลังแถลงนโยบาย รมว.มหาดไทยอาจไปตรวจน้ำท่วมในต่างจังหวัดแล้วเข้าทำงานในสัปดาห์หน้า ทั้งนี้ พล.อ.อนุพงษ์ได้เน้นย้ำกับผมและคณะผู้บริหารกระทรวงให้เร่งรัดทำงานให้มีประสิทธิภาพ ให้เกิดประโยชน์กับประชาชน นายวิบูลย์กล่าว
     นายวิบูลย์ กล่าวถึงการพิจารณาบัญชีแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการระดับสูงของกระทรวงมหาดไทยว่า ต้องรอให้ รมว.มหาดไทยคนใหม่พิจารณาด้วย ส่วนจะแต่งตั้งโยกย้ายอย่างไร ต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ เบื้องต้นจะโยกย้ายทั้งในระดับเดียวกันและทดแทนตำแหน่งที่ว่างเนื่องจากเกษียณอายุราชการ ซึ่งปีนี้มีผู้บริหารเกษียณถึง 22 คน

เผยครม.นัดแถลงนโยบาย 12 ก.ย.
       ที่รัฐสภา นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) แถลงว่า ได้รับการประสานภายในแล้วว่าครม.จะแถลงนโยบายต่อที่ประชุมสนช.ในวันที่ 12 ก.ย.นี้ เวลา 10.00 น. โดยจะประชุมเพียงวันเดียว คาดว่าในการประชุมครม.วันที่ 9 ก.ย. รัฐบาลคงพิจารณารายละเอียดตัวร่างคำแถลงนโยบายอีกครั้ง ส่วนวันที่ 11 ก.ย.จะประชุมสนช.ตามปกติเพื่อพิจารณาร่างข้อบังคับการประชุมสนช. และร่างพ.ร.บ.ตามที่หัวหน้าคสช. เสนอเข้าสนช. 5 ฉบับ
     เมื่อถามว่ามีความจำเป็นที่คสช.ต้องตั้งสมาชิกสนช.เพิ่มเติมหรือไม่ หลังจากมีสนช.ลาออกไปดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี 5 คน นายพรเพชรกล่าวว่า รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวกำหนดให้สนช.มีได้ไม่เกิน 220 คน ซึ่งปัจจุบันมีอยู่ 193 คนถือว่ายังเป็นไปตามรัฐธรรมนูญอยู่ แต่คิดว่าคงมีการแต่งตั้งเพิ่มเติมต่อไปในช่วงเวลาที่เหมาะสม ขึ้นอยู่กับพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและหัวหน้าคสช.จะพิจารณา
       นายพรเพชร กล่าวว่า ในสัปดาห์หน้าที่ประชุมสนช.จะพิจารณาร่างพ.ร.บ.งบประ มาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2558 วงเงิน 2.5 ล้านล้านบาท ในวาระที่ 2 และ 3

ปูบินร่วมงานศพอดีตส.ส.อุดรฯ
       เมื่อเวลา 11.20 น. ที่ท่าอาอากาศยานสุวรรณภูมิ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีต นายกฯ ให้สัมภาษณ์ก่อนเดินทางไปเป็นประธานสวดพระอภิธรรมศพนายทองดี มนิส สาร อดีตส.ส.อุดรธานี พรรคเพื่อไทย ที่บ้านดอนยางเดี่ยว ต.โพนงาม อ.หนองหาน จ.อุดร ธานี ถึงข่าวด.ช.ศุภเสกข์ อมรฉัตร เตรียม ไปศึกษาต่อต่างประเทศว่า ยังเรียนอยู่ที่โรงเรียนนานาชาติฮาร์โรว์ ดอนเมือง ยังไม่ได้คิดย้ายไปไหน และตนยังไม่ได้มีแผนให้บุตรชายไปเรียนต่อที่ต่างประเทศ น้องไปป์ยังต้องเรียนอีกหลายปี อยากให้อยู่ที่เมืองไทยก่อนเนื่องจากมีลูกคนเดียวก็คิดถึง ยามนี้เป็นโอกาสดีที่ได้อยู่ใกล้ชิดและมีเวลาให้ลูก ซึ่งยังไม่อยากให้ลูกไปต่างประเทศตอนนี้ หลังพ้นตำแหน่งนายกฯก็ใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่กับลูก เพราะช่วงที่เป็นนายกฯหลายปี ทำงานไม่มีเวลารับส่งลูก ตอนนี้มีเวลารับส่งลูกมากขึ้นและให้เวลากับตัวเองได้พักผ่อน
      เมื่อถามว่า อยากฝากอะไรถึงพล.อ. ประยุทธ์ หรือไม่ น.ส.ยิ่งลักษณ์กล่าวว่า คงไม่ต้องฝาก เพราะพล.อ.ประยุทธ์ มีความชำนาญและรู้ในหลายเรื่องอยู่แล้ว อีกทั้งเป็นผู้มีความสามารถ ฉะนั้นต้องให้เวลา เชื่อว่าพล.อ.ประยุทธ์จะปฏิบัติภารกิจและเป็นไปตามโรดแม็ปที่สัญญาไว้กับประชาชน

ลั่นสู้คดีจำนำ-ชี้ยุติธรรมแก้ขัดแย้ง
        น.ส.ยิ่งลักษณ์กล่าวถึงคดีโครงการรับจำนำข้าวที่ถูกป.ป.ช. ชี้ว่าละเลยต่อการปฏิบัติหน้าที่และอยู่ในชั้นอัยการสูงสุดที่มีการตั้งคณะทำงานร่วมระหว่างอัยการกับป.ป.ช.ว่า ความจริงทนายทำหน้าที่นี้อยู่แล้ว และได้ติดตามความคืบหน้าจากทนายและขั้นตอนทุกอย่างขอให้เป็นไปตามพยานหลักฐาน มั่นใจว่าไม่ได้กระทำการทุจริต ขอให้ดำเนินการตาม พยานหลักฐาน และไม่ต้องการให้สังคมต่างๆ ใช้กระแสชี้นำ เพราะถือเป็นการชี้นำกระบวนการยุติธรรม ขอให้ว่าตามขั้นตอนและพยานหลักฐานดีกว่า ซึ่งขณะนี้คดียังไม่สิ้นสุด ขอให้ทุกอย่างเป็นที่สิ้นสุดก่อนดีกว่า


เซลฟี่ - น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ เดินทางจากสนามบินสุวรรณภูมิ ไปยัง จ.อุดรธานี ระหว่างรอขึ้นเครื่องบินมีประชาชนมาขอร่วมถ่ายรูปและถ่ายเซลฟี่ด้วยจำนวนมาก ที่สนามบินสุวรรณภูมิ เมื่อวันที่ 8 ก.ย.

      เมื่อถามว่า ห่วงเรื่องการใช้อำนาจพิเศษบางส่วนแทรกแซงกระบวนการพิจารณาในชั้นอัยการสูงสุดหรือไม่ น.ส.ยิ่งลักษณ์กล่าวว่า เชื่อมั่นว่าผู้ที่อยู่ในกระบวนการยุติธรรมจะยึดหลักกฎหมาย ยึดพยานหลักฐาน ไม่ให้ใครมาชี้นำให้ความยุติธรรมที่เราควรจะมีอย่างเสมอภาคและเท่าเทียมกัน เพื่อให้ความยุติธรรมคงอยู่และช่วยแก้ปัญหาความขัดแย้งทั้งหมดต่อไป
      ต่อมาเวลา 14.00 น. ที่สนามบินนานาชาติอุดรธานี น.ส.ยิ่งลักษณ์เดินทางมาถึง โดยมีแกนนำและอดีตส.ส.พรรคเพื่อไทย รวมทั้งแกนนำคนเสื้อแดง อาทิ พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก นายขวัญชัย ไพรพนา นายวิเชียร ขาวขำ นอกจากนี้ ยังมีข้าราชการและคนเสื้อแดงมาต้อนรับจำนวนมาก ก่อนเดินทางไปเป็นประธานพิธีสวดพระอภิธรรมศพนาย ทองดี ที่ต.โพนงาม อ.หนองหาน

ชี้งานวิจัยทีดีอาร์ไอสมัยรบ.สมัคร
      ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับผลงานวิจัยโครงการนโยบายข้าวของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ที่ป.ป.ช.อ้างถึงในสำนวนที่ส่งให้อสส. กรณีชี้มูลความผิดน.ส.ยิ่งลักษณ์ ในโครงการรับจำนำข้าวว่ามีการทุจริตและมีความเสียหายจำนวนมากนั้น เป็นผลงานวิจัยของสำนักงานคณะกรรมการป.ป.ช. เรื่อง โครงการศึกษามาตรการแทรกแซงตลาดข้าวเพื่อป้องกันการทุจริต: การแสวงหาค่าตอบแทนส่วนเกินและเศรษฐ ศาสตร์การเมืองของโครงการรับจำนำข้าวเปลือก เขียนโดย นายนิพนธ์ พัวพงศกร นายจิตรกร จารุพงษ์ ทีดีอาร์ไอ เมื่อเดือนต.ค.2553
      เนื้อหาของงานวิจัยระบุถึงวัตถุประสงค์ ได้แก่ การประมาณต้นทุน รายรับ การขาดทุนต้นทุนสวัสดิการสังคมของโครงการรับจำนำข้าวเปลือก และการประมาณการผลตอบแทนส่วนเกินที่ตกแก่กลุ่มบุคคลต่างๆ ในโครงการรับจำนำข้าว ได้แก่ชาวนา โรงสี เจ้าของโกดัง เซอร์เวเยอร์ ผู้ส่งออกและเจ้าหน้าที่ของรัฐ การวิเคราะห์กิจกรรมแสดงหาค่าเช่าตลอดจนศึกษาพฤติกรรมการทุจริตของผู้เกี่ยวข้องในโครงการ 
     ผู้วิจัยเลือกศึกษาโครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปี ฤดูการผลิต 2548/49 เนื่องจากเป็นปีที่รัฐจำหน่ายข้าวออกหมดแล้ว และมีข้อมูลค่อนข้างสมบูรณ์ และยังเป็นปีที่ราคาจำนำสูงกว่าราคาตลาดมาก ทำให้มีการรับจำนำข้าวเปลือกจำนวนมากคล้ายกับสถาน การณ์ในปี 2551-52 ในสมัยรัฐบาลนายสมัคร สุนทรเวช ซึ่งมีปริมาณรับจำนำข้าวนาปี 2551/52 จำนวน 5,351,800 ตัน ในราคาตันละ 12,000 บาท และนาปรัง 3.93 ล้านตัน ในราคาตันละ 14,000 บาท 


อ้างรัฐขาดทุน 1.91 หมื่นล้าน
     ผลการวิจัยพบว่า โครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปี ฤดูการผลิตปี 2548/49 มีปริมาณรับจำนำข้าวเปลือก 5,247,837.65 ตัน แต่เนื่องจากค่าใช้จ่ายและรายรับของโครงการจำนำข้าวเปลือกมิได้เกิดขึ้นเพียงปีเดียว แต่ต้องใช้เวลา 3 ปี 4 เดือนจึงจบโครงการ ดังนั้น จึงจำเป็นต้องคำนวณเป็นมูลค่าปัจจุบัน ดังนั้น เมื่อวิเคราะห์รายรับ-รายจ่ายที่เป็นตัวเงินและต้นทุนที่ไม่ใช่ตัวเงินของโครงการปี 2548/49 ในวันที่ 31 มี.ค.2552 พบว่ารัฐมีค่าใช้จ่ายในโครงการรับจำนำทั้งต้นทุนทางการเงินและต้นทุนแฝงรวม 51,758.26 ล้านบาท แบ่งเป็นเงินกู้ 44,797.02 ล้านบาท และค่าใช้จ่ายดำเนินงานทั้งหมด 6,961.24 ล้านบาท แต่กลับมีรายได้จากการขายข้าว (ทั้งข้าวเปลือกและข้าวสาร) เพียง 32,628.26 ล้านบาท ส่งผลให้รัฐขาดทุนถึง 19,130 ล้านบาท
     การขาดทุนส่วนใหญ่เกิดจากการรับจำนำข้าวเปลือกในราคาที่สูงกว่าราคาตลาด แต่ประมูลขายข้าวสารในราคาต่ำกว่าราคาส่งออกในตลาด เฉลี่ยขาดทุนตันละ 3,645.31 บาท ซึ่งการขาดทุนเกิดจากการรับจำนำที่ต้นทุนตันละ 9,877.53 บาท ส่งผลให้มีเงินคืนกลับเข้ารัฐเหลือเพียงตันละ 6,226.77 บาท นอกจากนี้ยังเกิดจากรัฐจ่ายค่าจ้างสีแปรสภาพและค่าเช่าโกดังให้ผู้ประกอบการในอัตราสูงกว่าอัตราตลาด และการที่รัฐเก็บข้าวไว้ในสต๊อกนานจนคุณภาพเสื่อม 

มีภาระหนี้สาธารณะ-เสนอเลิก
      มูลค่าการขาดทุนจึงประกอบด้วย ค่าเช่าทางเศรษฐกิจ 15,853 ล้านบาท ค่าใช้จ่ายดำเนินการและความสูญเสียจากการเก็บรักษาข้าว 3,276.8 ล้านบาท ซึ่งค่าเช่าทางเศรษฐกิจจะถูกแบ่งให้ผู้เข้าร่วมโครงการ คือเกษตรกรที่เข้าโครงการได้ประโยชน์ร้อยละ 37.25 ของมูลค่าขาดทุน ผู้ประกอบการโรงสีได้รับ ร้อยละ 18 โกดังกลางและเซอร์เวเยอร์ได้รับร้อยละ 4.2 พ่อค้าส่งออกได้รับร้อยละ 23.4 นักการเมืองและเจ้าหน้าที่รัฐจะได้ส่วนแบ่งค่าเช่าจากโรงสี เจ้าของโกดังและผู้ส่งออก แต่งานวิจัยนี้ไม่มีข้อมูลเพียงพอในการแยกแยะส่วนแบ่งของบุคคลเหล่านี้
      ดังนั้น โครงการรับจำนำข้าวจึงเกิดภาระขาดทุนมหาศาล รัฐกลายเป็นผู้ค้าข้าวรายใหญ่ ผลประโยชน์ไม่ได้ตกอยู่ที่เกษตรกร ก่อให้เกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจและการเมืองมาก เป็นภาระหนี้สาธารณะ เกิดปัญหาวินัยการคลัง 
      ข้อเสนอแนะทางนโยบายที่สำคัญคือ 1.รัฐบาลควรยกเลิกโครงการรับจำนำข้าวเปลือก แล้วสั่งการให้หน่วยงานที่รับผิดชอบดำเนินโครงการรับจำนำข้าวเปลือกจัดทำรายงานการเงินและปิดบัญชีโครงการรับจำนำข้าวเปลือกทุกโครงการให้เสร็จภายใน 1 ปี 
      2.รัฐควรจัดให้มีประกันความเสี่ยงด้านราคาข้าว เพื่อเป็นหลักประกันช่วยเหลือเกษตรกรมิให้ประสบปัญหาขาดทุนจากภาวะราคาตลาดตกต่ำ โดยรัฐไม่ต้องแทรกแซงการค้าข้าว นโยบายใหม่นี้มิได้ต้องการยกระดับราคาข้าวในตลาด เพื่อให้เกษตรกรทุกครัวเรือนได้ประโยชน์จากการประกัน ผู้วิจัยจึงเสนอให้รัฐบาลจำกัดเพดานการประกันของครัวเรือนเกษตรกรแต่ละราย ซึ่งผลการศึกษาพบว่าหากรัฐบาลกำหนดเพดานการประกัน 10 ตันต่อครัวเรือน จะมีเกษตรกรร้อยละ 82 ที่ได้รับการประกันเต็มเพดาน ส่วนเกษตรกรซึ่งมีผลผลิตเกิน 10 ตันยังคงได้รับการช่วยเหลือเฉพาะข้าวเปลือก 10 ตันแรก 

เสนอจดทะเบียนชาวนาลดต้นทุน
      นอกจากนี้ ผู้วิจัยเสนอให้เกษตรกรมีส่วนร่วมจ่ายค่าเบี้ยประกัน โดยในปีแรกรัฐอาจคิดค่าเบี้ยประกันอัตราต่ำ หรือไม่คิดเบื้ยประกัน แต่ให้รัฐค่อยๆ เพิ่มเบี้ยประกันในปีต่อๆ ไป รวมทั้งสนับสนุนการพัฒนาตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้า เพื่อใช้เป็นกลไกป้องกันความเสี่ยงที่เกิดจากโครงการประกันความเสี่ยงราคา ตลอดจนให้บริษัทประกันภัยเอกชนเข้ามาเป็นผู้รับประกันต่อในอนาคต
     ตามข้อเสนอใหม่นี้รัฐจะไม่ต้องรับซื้อข้าวในตลาดอีกต่อไป จึงไม่มีการแทรกแซงตลาดข้าว การผลิตและการค้าข้าวจะดำเนินการเพื่อประโยชน์ทางเศรษฐกิจตามกลไกตลาด ซึ่งนโยบายนี้จะป้องกันการทุจริตที่เคยเกิดขึ้นในทุกขั้นตอนของโครงการรับจำนำข้าวเปลือก ยกเว้นการจดทะเบียนเกษตรกร สามารถลดต้นทุนการแทรกแซงและความสูญเสียทางเศรษฐกิจ และเมื่อสิ้นฤดูเก็บเกี่ยวรัฐบาลจะทราบภาระค่าใช้จ่ายทั้งหมดของโครงการ ทำให้รัฐบาลต้องมีวินัยการคลังในการดำเนินนโยบายช่วยเหลือเกษตรกร 
      ผู้สื่อข่าวรายงานว่าสำหรับการทำวิจัยครั้งนี้ทำขึ้นในปี 2554 ซึ่งน.ส.ยิ่งลักษณ์ยังไม่ได้เข้ามาดำรงตำแหน่งนายกฯ โดยข้อมูลที่นำมาใช้เป็นข้อมูลจำนำข้าวสมัยปลายรัฐบาลพ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร ในปีการผลิตข้าว 2548/2549 และข้อมูลการผลิตข้าวปี 2551/2552 สมัยรัฐบาลนายสมัคร สุนทรเวช

ป.ป.ช.อ้างส่วนหนึ่งของหลักฐาน
      วันเดียวกัน นายปานเทพ กล้าณรงค์ราญ ประธานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) กล่าวถึงการตั้งข้อสังเกตเรื่องผลงานวิจัยข้าวของทีดีอาร์ไออาจเป็นข้อมูลเดิมตั้งแต่ปี 2554 ว่า งานวิจัยดังกล่าวเป็นหลักฐานส่วนหนึ่งที่ถูกอ้างถึง ไม่ใช่หลักฐานทั้งหมด เป็นส่วนหนึ่งของเอกสารประกอบ จะเป็นผลงานวิจัยตั้งแต่ปีไหนจึงไม่ใช่ประเด็นหลัก เพราะยังมีหลักฐานในส่วนที่สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ทักท้วงเรื่องจำนำข้าวนี้อีกด้วย
        นายปานเทพกล่าวว่า ส่วนการแต่งตั้งคณะทำงานร่วมระหว่างป.ป.ช.กับอัยการสูงสุด (อสส.) เพื่อหาข้อสรุปในสำนวนโครงการรับจำนำข้าวที่มีข้อไม่สมบูรณ์ของพยานหลักฐาน 10 คนนั้นจะพิจารณาในที่ประชุมวันที่ 9 ก.ย. เมื่อสำนักงานอัยการสูงสุดตั้งมา 10 คน มีรองอัยการสูงสุดเป็นหัวหน้าคณะ ทางป.ป.ช.ก็จะให้เลขาธิการป.ป.ช.เป็นหัวหน้าคณะ 10 คนของป.ป.ช.
       เมื่อถามว่าเป็นไปได้หรือไม่ที่จะมีชื่อ กรรมการป.ป.ช.อยู่ในคณะทำงานร่วม ประธานป.ป.ช. กล่าวว่า ก็เคยมี ถ้าเป็นเรื่องที่สำคัญมากๆ ตรงนี้ไม่มีข้อจำกัด เรื่องนี้อสส.ให้รองอสส.เป็นหัวหน้าคณะ เราก็ให้เลขาธิการป.ป.ช.เป็นหัวหน้าคณะประกอบด้วยคณะทำงานคือคนที่ทำคดีก็ 10 คน เท่าๆ กัน

ส่งวิชาร่วมเป็นกก.ร่วมกับอัยการ
      แหล่งข่าวจากสำนักงานคณะกรรมการป.ป.ช. เปิดเผยว่า ในที่ประชุมป.ป.ช.ชุดใหญ่วันที่ 9 ก.ย.นี้ นายสรรเสริญ พลเจียก เลขาธิการคณะกรรมการป.ป.ช. จะรายงานให้ทราบถึงหนังสือที่ส่งมาจากอสส. เพื่อให้พิจารณาแต่งตั้งคณะทำงานร่วมกับฝ่ายอัยการ 10 คนเท่ากัน และคงทราบในที่ประชุมพร้อมกันว่ามีใครบ้าง เพราะจะเสนอเป็นวาระจร ซึ่งเป็นไปได้ว่าจะมีนายวิชา มหาคุณ กรรมการป.ป.ช. เป็น 1 ใน 10 คณะทำงานร่วม เพราะในอดีตการตั้งคณะทำงานร่วมป.ป.ช.กับอสส.ก็เคยมีชื่อกรรมการอย่างนายกล้านรงค์ จันทิก ร่วมอยู่ด้วย โดยเฉพาะคดีที่ต้องถกเถียงในข้อกฎหมาย ชี้แจงข้อมูลกันโดยละเอียด 
      แหล่งข่าวกล่าวถึงการตั้งข้อสังเกตเรื่องผลงานวิจัยข้าวของทีดีอาร์ไออาจเป็นข้อมูลเดิมตั้งแต่ปี 2554 ว่า งานวิจัยที่นำมาเป็นส่วนประกอบของพยานหลักฐานนั้นจะเก่าหรือใหม่ ไม่ใช่เรื่องสำคัญมากนัก ที่สำคัญคือข้อเท็จจริงต้องเป็นเหตุการณ์ปัจจุบัน ใช้อ้างอิงได้ว่าเมื่อมีงานวิจัยออกมาอย่างนี้แล้ว ทำไมจึงยังปล่อยให้โครงการดำเนินไปอย่างละเลย เป็นการหาหลักฐานมายึดโยงเท่านั้น งานวิจัยไม่ใช่ตัวที่จะนำมาชี้ถูกชี้ผิด แต่สำคัญคืองานวิจัยที่มีมาเดิมนำมาสู่การสอบปากคำพยานเพื่อมาเป็นหลักฐานประกอบ

เผย 30 ผู้ชิงสปช.ส่อขาดคุณสมบัติ
      เมื่อเวลา 17.30 น. ที่สำนักงาน กกต. นายภุชงค์ นุตราวงศ์ เลขาธิการกกต. แถลงสรุปยอดผู้เสนอชื่อเข้ารับการสรรหาเป็นสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) วันที่ 14 ส.ค.-2 ก.ย. อย่างเป็นทางการว่า มีผู้เสนอชื่อเข้ารับการสรรหา 7,370 คน แบ่งเป็นนิติบุคคลที่ไม่แสวงหากำไรที่เสนอเข้ารับการสรรหาใน 11 ด้าน 4,585 คน ระดับจังหวัดอีก 2,785 คน ด้านที่เสนอชื่อมากที่สุดคือด้านการศึกษา 778 คน น้อยสุดคือสื่อมวลชน 194 คน ขณะที่ระดับจังหวัด กทม.เสนอชื่อมากสุด 113 คน น้อยสุดคือ จ.พิจิตร 15 คน ทั้งนี้ใน 11 ด้านและจังหวัดแบ่งเป็นเพศชาย 6,479 คน เพศหญิง 891 คน ส่วนระดับการศึกษาต่ำกว่าปริญญาตรี 809 คน ปริญญาตรี 2,114 คน ปริญญาโท 3,286 คน ปริญญาเอก 1,152 คน และไม่แจ้งระดับการศึกษา 9 คน 
      นายภุชงค์ กล่าวว่า จากการตรวจสอบคุณสมบัติพบว่า มีเพียง 30 รายที่มีคุณสมบัติต้องห้าม คาดว่ารายชื่อทั้งหมดจะเสนอคณะกรรมการสรรหาไม่เกินวันที่ 11 ก.ย. ทันการประชุมกรรมการทั้ง 11 ด้านในวันที่ 12 ก.ย. ขณะที่ระดับจังหวัดจะเริ่มประชุมคู่ขนาน อาจคัดเลือกบุคคลจังหวัดละ 5 คนให้แล้วเสร็จภายในการประชุมเพียง 1-2 ครั้ง รายชื่อผู้ได้รับการคัดเลือกจากทั้ง 2 ส่วนจะต้องเป็นความลับ จนกว่าจะมีการประกาศจากคสช.ในวันที่ 2 ต.ค.
     นายภุชงค์ กล่าวอีกว่า ได้รับหนังสือลาออกจากการเป็นกรรมการสรรหาด้านสื่อมวลชนของนางพิรงรอง รามสูต อาจารย์คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ เนื่องจากติดภารกิจไปต่างประเทศ คณะกรรมการที่เหลือ 6 คนทำหน้าที่ต่อได้

ชี้เอกสารเก๊สั่งปิดข้อมูลบัญชีบิ๊กตู่
      พ.อ.วินธัย สุวารี ทีมโฆษก คสช. กล่าวถึงกรณีมีการทำเอกสารปลอมหลอกลวงประชาชนว่า มีผู้ไม่หวังดีทำเอกสารปลอมเป็นคำสั่งของ คสช.เพื่อหลอกลวง ทำให้ประชาชนเกิดความสับสน โดยนำมาเผยแพร่ผ่านทางโซเชี่ยลมิเดีย มีเนื้อหาใจความว่าขอให้ธนาคารแห่งหนึ่งงดการเปิดเผยข้อมูลเงินฝากในชื่อบัญชีของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และหัวหน้า คสช. และพล.ท.ปรีชา จันทร์โอชา แม่ทัพภาคที่ 3 และในเอกสารยังมีการปั้นแต่งตัวเลขยอดเงินฝากขึ้นมาเอง ตนขอชี้แจงว่าเรื่องดังกล่าวไม่เป็นความจริง ขอให้สังคมอย่าไปหลงเชื่อ พร้อมทั้งขอให้ผู้ที่ไม่หวังดีได้หยุดการกระทำดังกล่าว เพราะการกระทำในลักษณะนี้ถือเป็นเรื่องผิดกฎหมาย หากตรวจพบจะต้องถูกดำเนินการตามกระบวนการยุติธรรมต่อไป

ชายหมูกลับทำหน้าที่ผู้ว่าฯกทม.
      เมื่อเวลา 09.00 น. ที่ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าฯ กทม. ได้เข้าปฏิบัติงานที่ศาลาว่าการ กทม.เป็นวันแรก หลังศาลอุทธรณ์มีคำสั่งยกฟ้องคดีที่ กกต. ฟ้องทุจริตเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ทำให้กลับมาปฏิบัติงานในตำแหน่งได้เช่นเดิม โดยม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ได้สักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำศาลาว่าการกทม. มีข้าราชการ กทม.และลูกจ้างจำนวนมากร่วมมอบดอกไม้ต้อนรับ บรรยากาศเป็นไปด้วยความชื่นมื่น
     ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์กล่าวว่า ขอบคุณทุกคนที่คอยให้กำลังใจ สนับสนุนและรอให้ตนกลับมาทำงาน ซึ่งได้ห่างจากการทำงานไปกว่า 6 เดือน แต่ในอีก 2 ปีก่อนที่ตนจะหมดวาระอยากให้ทุกคนทุกหน่วยงานถ้ารักตนจริงขอให้เต็มที่กับการทำงาน 
      เมื่อถามว่าจะมีการปรับคณะทำงานในตำแหน่งต่างๆ อาทิ รองผู้ว่าฯ กทม.หรือไม่ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์กล่าวว่า ตนยังไม่ได้คิด ขอมุ่งทำงานก่อน เพราะที่ผ่านมาเกิดความล่าช้าในหลายด้าน ติดปัญหาสถานการณ์การเมือง อีกทั้งข้าราชการ กทม.อยู่ในภาวะใกล้เกษียณ อาจทำให้งานมีลักษณะคอขวด ติดขัดบ้าง ซึ่งตนจะแก้ไขในส่วนนี้ ส่วนการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการทดแทนที่เกษียณนั้นมั่นใจว่าบุคคลที่มารับตำแหน่งแทนจะทำงานตามนโยบายได้อย่างดี

ศาลนัดคดีมาร์คฟ้องบิ๊กโอ๋ปลด
     เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 8 ก.ย. ที่ศาลแพ่ง ถ.รัชดาภิเษก ศาลนัดพร้อมคู่ความ คดีที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เป็นโจทก์ ยื่นฟ้องพล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต อดีตรมว.กลาโหม เป็นจำเลย เรื่องกระทำการโดยมิชอบในการออกคำสั่งกลาโหม ลงวันที่ 8 พ.ย. 2555 ให้ปลดนายอภิสิทธิ์ ออกจากราชการเป็นทหารกองหนุน และเรียกคืนเบี้ยหวัดบำนาญ สังกัด บก.จทบ.ก.ท. หลังตั้งคณะกรรมการขึ้นมาตรวจสอบกรณีสมาชิกพรรคเพื่อไทยร้องเรียนว่านายอภิสิทธิ์ ไม่ได้เข้ารับการตรวจเลือกทหารกองเกิน (หนีเกณฑ์ทหาร) และใช้เอกสารเท็จสมัครรับราชการทหาร 
     ด้านโจทก์ ขอให้ศาลเพิกถอนคำสั่งรมว.กลาโหมดังกล่าว ให้มีผลนับตั้งแต่วันที่ออกคำสั่ง เนื่องจากมีตั้งคณะกรรมการไต่สวนข้อร้องเรียนที่เคยพิจารณาไปแล้วเมื่อปี 2542 และยังเร่งจัดทำรายงานว่าโจทก์กระทำผิดตามข้อกล่าวหา โดยไม่เรียกไปให้ถ้อยคำหรือแสดงพยานหลักฐาน ขณะที่โจทก์ลาออกจากข้าราชการกลาโหมพลเรือนชั้นสัญญาบัตรที่ได้รับบรรจุปี 2530 ในตำแหน่ง รรก.อจ.ส่วนการศึกษา จปร.แล้ว ตั้งแต่ปี 2532 เพื่อลงสมัครส.ส.วันนี้มีเพียงทนายความของโจทก์และทนายความจำเลย เท่านั้นที่มาศาลเพื่อกำหนดวันนัดพิจารณาคดี
      ภายหลังนายไพบูลย์ โพธิ์น้อย ทนายความของนายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า คดีนี้นายอภิสิทธิ์ยื่นฟ้องพล.อ.อ.สุกำพล ต่อศาลปกครองกลางเพื่อให้ศาลเพิกถอนคำสั่งรมว.กลาโหม แต่ต่อมาวินิจฉัยชี้ขาดเขตอำนาจศาล คดีจึงถูกโอนมายังศาลแพ่งพิจารณา ซึ่งศาลกำหนดวันนัดชี้ 2 สถาน เพื่อกำหนดประเด็นพิจารณาคดีนี้ ในวันที่ 24 พ.ย.นี้ เวลา 13.30 น. ซึ่งนายอภิสิทธิ์ยังไม่ต้องมาศาลจนกว่าจะมาเป็นพยานเบิกความฝ่ายโจทก์

คุก 6 ด.ทอม ดันดี-วรเจตน์สู้คดี
     เมื่อเวลา 09.30 น.วันที่ 8 ก.ย. ที่ศาลทหารกรุงเทพ นายวรเจตน์ ภาคีรัตน์ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และนักวิชาการคณะนิติราษฎร์ เดินทางมาที่ศาลทหารกรุงเทพ ตามที่คณะตุลาการศาลทหารกรุงเทพนัดสอบคำให้การในคดีที่อัยการยื่นฟ้องฐานฝ่าฝืนไม่มารายงานตัวตามคำสั่งเรียกบุคคลให้มารายงานตัวของ คสช. โดยนายวรเจตน์ให้สัมภาษณ์ก่อนขึ้นให้ปากคำต่อศาล โดยยอมรับว่ากังวลใจในคดี แต่จะต่อสู้ตามกระบวนการและจะรอฟังคำฟ้องอย่างเป็นทางการ จากคณะตุลาการศาลทหารกรุงเทพ 
      จากนั้นนายวรเจตน์ให้สัมภาษณ์อีกครั้งหลังคณะตุลาการฯ สอบคำให้การเสร็จสิ้นว่า ตนได้ปฏิเสธข้อหาฝ่าฝืนไม่มารายงานตัวตามคำสั่งเรียกของ คสช. ฉบับที่ 5/2557 และฉบับที่ 57/2557 เนื่องจากอัยการได้ส่งฟ้อง 1 ข้อหา แต่กลับระบุความผิดที่ต้องรับโทษจากคำสั่งทั้ง 2 ฉบับ ดังนั้น จะขอต่อสู้คดี โดยจะนัดตรวจพยานหลักฐานฝ่ายโจทก์อีกครั้งในวันที่ 24 พ.ย.นี้
      นอกจากนี้ คณะตุลาการศาลทหารกรุงเทพยังนัดสอบคำให้การนายธานัท ธนวัชรนนท์ หรือทอม ดันดี อดีตนักร้อง น.ส.จิตรา คชเดช อดีตประธานสหภาพไทรอัมพ์ นายสงวน พงษ์มณี อดีตส.ส.ลำพูน พรรคเพื่อไทย และนายอนุรักษ์ เจนตวนิชย์ หรือฟอร์ด เส้นทางสีแดง เนื่องจากฝ่าฝืน ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งเรียกบุคคลให้มารายงานตัวของ คสช.ด้วย 
      นายวิญญัติ ชาติมนตรี ทนายความของทอม ดันดี กล่าวว่า ผู้ต้องหาได้รับสารภาพต่อศาล ศาลจึงมีคำพิพากษาจำคุก 6 เดือน ปรับ 10,000 บาท แต่ไม่ปรากฏว่านายธานัทเคยต้องโทษจำคุกมาก่อน จึงให้รอลงอาญา 2 ปี แต่ยังไม่ได้ปล่อยตัว เนื่องจากยังมีคดีปราศรัยเข้าข่ายหมิ่นสถาบันเบื้องสูงตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และความผิดตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ซึ่งเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องต้องนำตัวไปดำเนินการตามขั้นตอนทางกฎหมายต่อไป
       คณะตุลาการศาลทหารกรุงเทพยังพิพากษาจำคุก 3 เดือน ปรับ 5,000 บาท นายอนุรักษ์ จำเลยในคดีฝ่าฝืนไม่มารายงานตัวตามคำสั่ง คสช. แต่โทษจำคุกให้รอลงอาญา 2 ปีเช่นกัน

นัด 22 ก.ย.-คดีพธม.ยึดสนามบิน
      เมื่อวันที่ 8 ก.ย. ที่ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก ศาลนัดตรวจหลักฐานคดีพันธมิตรชุมนุมปิดท่าอาศยานสุวรรณภูมิและดอนเมือง รวม 8 สำนวน คดีหมายเลขดำ อ.973/2556 , อ.1067/2556 ,อ.1204/2556 ,อ.1279 /2556, อ. 1316/2556 , อ. 1406/2556 , อ.1522/2556 และ อ.1559/2556 ที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีอาญา 9 เป็นโจทก์ ยื่นฟ้องพล.ต.จำลอง ศรีเมือง และนายสนธิ ลิ้มทองกุล แกนนำ พธม. กับพวกที่เป็นแนวร่วม พธม.รวม 96 คน เป็นจำเลยที่ 1- 96 ในความผิดฐานร่วมกันก่อการร้าย, ร่วมกันมั่วสุมตั้งแต่ 10 คนขึ้นไปใช้กำลังประทุษร้าย หรือกระทำการเพื่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง, ร่วมกันเข้าไปซ่อนตัวในอาคารสำนักงานผู้อื่นและไม่ยอมออกไปจากสถานที่นั้นโดยใช้กำลงประทุษร้าย, ฝ่าฝืนคำสั่งสถานการณ์ฉุกเฉิน ตามพ.ร.ก.ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 และ พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดบางประการต่อการเดินอากาศ พ.ศ.2521 กรณีระหว่างเดือนพ.ย.-ธ.ค.2551 แกนนำและแนวร่วม พธม. เป็นผู้นำชุมนุม ปิดล้อมท่าอากาศยานสุวรรณภูมิและดอนเมือง เพื่อกดดันเรียกร้องให้นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ลาออกจากนายกฯและประกาศยุบสภา
      น.ส.พวงทิพย์ บุญสนอง ทนายความ กล่าวว่า การนัดตรวจหลักฐาน นัดเฉพาะฝ่ายอัยการโจทก์และทนายความจำเลยเท่านั้น เพื่อตรวจสอบหลักฐานเอกสารที่จะใช้นำสืบในคดี ตัวจำเลยไม่ได้มาศาล ซึ่งการตรวจเอกสารยังไม่เสร็จภายในวันเดียวกันนี้ ศาลจึงนัดอีกครั้งในวันที่ 22 ก.ย.นี้ 
       น.ส.พวงทิพย์ กล่าวด้วยว่า ได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลสั่งจำหน่ายคดีในส่วนของนายสุทธิ อัชฌาศัย นักต่อสู้เพื่อสิ่งแวดล้อม จำเลยที่เสียชีวิตไปเมื่อเดือนก.ค. ในจ.ระยอง ออกจากสารบบความ ซึ่งศาลมีคำสั่งให้อัยการโจทก์ตรวจสอบข้อเท็จจริงเสนอศาลก่อนที่จะมีคำสั่งต่อไป