วันที่ 07 กันยายน พ.ศ. 2557 ปีที่ 24 ฉบับที่ 8684 ข่าวสดรายวัน


ปนัดดาโต้ ไม่เกี่ยว-ไมค์แพง 
โยนกรมโยธา บิ๊กตู่ชูต้านโกง วาระแห่งชาติ จ่อแถลง 12 กย. นโยบายรัฐบาล


ต้านโกง - พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ร่วมงานวันต่อต้านคอร์รัปชั่น พร้อมกล่าวปาฐกถาประกาศให้การแก้ไขปัญหาทุจริตเป็นวาระแห่งชาติ ที่โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ แอท เซ็นทรัลเวิลด์ เมื่อวันที่ 6 ก.ย. 

       'ปนัดดา'ปัดไม่เกี่ยวจัดซื้อไมค์ครม.ตัวละแสนสี่ แต่ถูกอ้างชื่อ โยนกรมโยธาธิการฯ เป็นผู้ดูแล'บิ๊กตู่'ปาฐกถางานต้านคอร์รัปชั่น ประกาศให้เป็นวาระแห่งชาติ อัยการสูงสุดชี้กระบวนการยุติธรรมที่ดีต้องมีหลักฐาน บางเรื่องอาจไม่ถูกใจ ประธานป.ป.ช. 'ปานเทพ'เชื่อสำนวนคดีจำนำข้าว ไม่บานปลาย เชื่อเคลียร์กันได้ เตรียมหารือในป.ป.ช.วันที่ 9 ก.ย. 'พรเพชร' เรียกประชุม สนช. 11 ก.ย. ถกร่างข้อบังคับการประชุม คาดรัฐบาลใหม่เลื่อนแถลงนโยบายเป็น 12 ก.ย.

รบ.เตรียมแถลงนโยบาย 12 ก.ย.
       วันที่ 6 ก.ย. ที่โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ แอท เซ็นทรัลเวิลด์ ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยถึงความคืบหน้าการจัดทำร่างแถลงนโยบายของรัฐบาลที่จะแถลงต่อสภานิติบัญญัติ (สนช.) ว่า ขณะนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและกระทรวงต่างๆ กำลังดำเนินการเร่งจัดทำกันอยู่ ซึ่งจะเสร็จทันและนำเข้าที่ประชุม ครม. วันที่ 9 ก.ย. หรือไม่ นั้น ตนไม่ทราบ แต่คาดจะมีการพูดคุยเรื่องดังกล่าวในที่ประชุมด้วย สำหรับวาระการประชุมไม่มีวาระอะไรเป็นพิเศษ เป็นเพียง การพูดคุยเรื่องเร่งด่วนที่ต้องเร่งช่วยเหลือประชาชนเป็นอันดับต้นๆ
      เมื่อถามว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จะเข้าทำเนียบรัฐบาลในเวลาอะไร ม.ล.ปนัดดากล่าวว่า เท่าที่ทราบไม่ได้ถือฤกษ์แต่อย่างใด คาดว่าพล.อ.ประยุทธ์จะเดินทางเข้าทำเนียบในเวลา 08.00 น.
      รายงานข่าวเผยว่า คาดว่ารัฐบาลจะแถลงนโยบายต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ในวันที่ 12 ก.ย.

ปนัดดา แจงข่าวไมค์ทำเนียบ 
      ม.ล.ปนัดดาให้สัมภาษณ์ถึงการจัดซื้อไมค์ห้องประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่มีราคาค่อนข้างสูง ว่า เรื่องนี้ไม่ได้อยู่ในความรับผิดชอบของตน เพราะเป็นเรื่องของส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ทั้งสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี กรมโยธาธิการและผังเมืองที่จะเจรจาในราคาที่ต่ำที่สุด เข้าใจว่าข่าวที่ออกมาเป็นไปอย่างเลื่อนลอย ไม่ใช่ข้อเท็จจริงและนำไปเปรียบเทียบกับระบบของต่างประเทศอย่างสหรัฐ อเมริกา ที่ผ่านมานายกรัฐมนตรีย้ำมาตลอดให้ประหยัดและพอเพียง
     "มีคนไปเขียนเอาชื่อผมไปใส่ ยืนยันว่า เรื่องราคาพี่ไม่รู้เรื่องจริง เพราะดูแลแต่เรื่องอาคารและความสะอาดของพื้นที่ หากไปตอบเรื่องราคาจะกลายเป็นว่าไม่รู้แต่อยากพูด เรื่องนี้อธิบดีกรมโยธาฯ พูดกับผมวันที่ 5 ก.ย.ที่ผ่านมา จะพยายามให้อยู่ในราคาที่ต่ำที่สุดและยังไม่มีการลงนามจัดซื้อเลย" ม.ล. ปนัดดากล่าว
       เมื่อถามว่าแสดงว่า มั่นใจว่าการปรับปรุงทำเนียบไม่มีการทุจริตคอร์รัปชั่น ม.ล.ปนัดดากล่าวว่า ไม่มี นายกฯ กำชับทุกขั้นตอน ใครทำโดนลงโทษทันที ทั้งข้าราชการและบริษัทที่เข้ามาร่วมรับผิดชอบ จึงมีการจัดตั้งคณะทำงานติดตามการซ่อมบำรุงอาคารต่างๆ ขึ้นมาดูแล การใช้งบประมาณครั้งนี้จึงต่ำกว่าที่คิด ส่วนการปรับปรุงและส่งมอบจะทันตามกำหนดขณะนี้อยู่ระหว่างเก็บรายละเอียดของงานให้สมบูรณ์ 

15 ก.ย.ได้ผลตรวจคุณภาพข้าว
     ม.ล.ปนัดดาในฐานะประธานคณะอนุกรรมการตรวจสอบปริมาณและคุณภาพข้าวคงเหลือของรัฐ เผยถึงความคืบหน้าการตรวจวิเคราะห์คุณภาพตัวอย่างข้าวจากห้องปฏิบัติการว่าผลการตรวจวิเคราะห์คุณภาพข้าวจะเสร็จสิ้นวันที่ 15 ก.ย.นี้ ซึ่งตนจะส่งให้คณะกรรมการนโยบายบริหารจัดการข้าว (นบข.) เป็นผู้พิจารณาดำเนินการในขั้นตอนต่อไป
     เมื่อถามว่า หากผลการตรวจสอบคุณภาพข้าวออกมาแล้วพบว่าไม่ได้มาตรฐานจะมีการฟ้องร้องดำเนินคดีกับหน่วยงานไหนบ้าง ม.ล.ปนัดดากล่าวว่า เรื่องการแจ้งข้อกล่าวหาใคร หรือฟ้องร้องว่าใครเป็นผู้กระทำความผิดเป็นหน้าที่ของ นบข.ที่ต้องพิจารณาว่าหน่วยงานไหนมีส่วนเกี่ยวข้องที่ต้องร่วมรับผิดชอบหรือไม่ ตนไม่มีหน้าที่เกี่ยวข้องเพราะถือว่าภารกิจตรวจสอบคุณภาพจบแล้ว

'ปานเทพ'เชื่อปม'ข้าว'ไม่บานปลาย 
      นายปานเทพ กล้าณรงค์ราญ ประธานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กล่าวกรณีอัยการสูงสุด (อสส.) ยังไม่ส่งฟ้องคดีรับจำนำข้าวของน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เนื่องจากเห็นว่าสำนวนของป.ป.ช.ยังมีข้อ ไม่สมบูรณ์ ว่า ขณะนี้อัยการสูงสุดส่งรายละเอียดเรื่องความไม่สมบูรณ์ในสำนวนคดีรับจำนำข้าวของน.ส.ยิ่งลักษณ์ มาให้ป.ป.ช.แล้ว ซึ่งวันที่ 9 ก.ย.ที่ประชุมคณะกรรมการป.ป.ช.จะนำเรื่องดังกล่าวมาหารือกัน เพื่อตั้งคณะทำงานร่วมระหว่างอัยการ-ป.ป.ช. มาหาข้อยุติในประเด็นที่ทั้งสองฝ่ายยังเห็นไม่ตรงกัน คงต้องดูรายชื่อคณะทำงานที่ อสส.ส่งมาก่อน ป.ป.ช.จึงจะพิจารณาว่าจะส่งใครร่วมเป็นคณะทำงานบ้าง
        นายปานเทพ กล่าวว่า ส่วนกรณีที่นายวิชา มหาคุณ กรรมการป.ป.ช. ตอบโต้ อสส.อย่างรุนแรง คงไม่ทำให้เกิดปัญหาบานปลายในการทำงานระหว่างทั้งสองหน่วยงานตามมา เพราะที่ผ่านมาป.ป.ช.และ อสส.มีการประชุมร่วมกันเป็นประจำอยู่แล้ว สามารถทำความเข้าใจกันได้ ปัญหาในเรื่องนี้เกิดจากการเห็นประเด็นข้อกฎหมายแตกต่างกัน ป.ป.ช.มองในมุมเรื่องความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการที่ นายกฯ ไม่ได้ยับยั้งโครงการจำนำข้าวเป็นหลัก ขณะที่ อสส.มองในประเด็นเรื่องการทุจริตเป็นหลัก คงต้องนำประเด็นที่ยังเห็นไม่ตรงกันไปพูดคุยทำความเข้าใจในคณะทำงานร่วม เชื่อว่าจะทำความเข้าใจกันได้ ส่วนตัวเห็นว่า อสส.คงไม่ถูกกดดันการทำงานเรื่องโครงการรับจำนำข้าว เพียงแต่อยากให้หลักฐานที่ป.ป.ช.ส่งไปมีความสมบูรณ์มากที่สุด เพื่อสรุปสำนวนให้แน่นหนาก่อนส่งให้ศาลพิจารณาเท่านั้น

ปชป.จี้ปฏิรูปอัยการ 
        นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม อดีตส.ส.พิษณุโลก พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวกรณีป.ป.ช.แถลง โต้ อสส.คดีละเว้นปฏิบัติหน้าที่ของน.ส. ยิ่งลักษณ์ ในโครงการรับจำนำข้าว ว่า สะท้อนถึงความไม่โปร่งใสในการทำหน้าที่ของ อสส. คำชี้แจง ของ อสส.ที่ไม่สั่งฟ้องคดีเป็นเหตุผลเดียวกับคำร้องของทีมทนายความน.ส. ยิ่งลักษณ์ เรียกร้องให้ผู้เกี่ยวข้องจาก อสส.ออกมาชี้แจงให้ชัดเจนและโปร่งใส หากชี้แจงให้ชัดเจนไม่ได้คงถึงเวลาที่ คสช.ต้องปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม โดยเฉพาะขั้นตอนของอัยการอย่างจริงจัง

บิ๊กตู่ ร่วมงานต้านคอร์รัปชั่น
      เวลา 11.00 น. ที่โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ แอท เซ็นทรัลเวิลด์ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคสช. ร่วมงานวันต่อต้านคอร์รัปชั่น 2557 "HAND IN HAND...ปฏิรูปการต่อสู้ เพื่อชัยชนะอย่างยั่งยืน" จัดขึ้นโดยองค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น ร่วมกับภาครัฐและเอกชน มีหน่วยงานภาครัฐและเอกชน องค์กรอิสระ ภาคประชาชน ร่วมงานคับคั่ง อาทิ ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี น.ส.ชุติมา บุณยประภัศร ปลัดกระทรวงพาณิชย์ นายปานเทพ กล้าณรงค์ราญ ประธานป.ป.ช. นายสรรเสริญ พลลำเจียก เลขาฯป.ป.ช. นายตระกูล วินิจนัยภาค อสส. นายประยงค์ ปรียาจิตต์ เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตภาครัฐ (ป.ป.ท.) นายอิสระ ว่องกุศลกิจ ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย 
      ผู้ร่วมงานจากองค์กรต่างๆ กว่า 500 คน ร่วมกิจกรรมแสดงพลัง HAND IN HAND ปฏิรูปการต่อสู้เพื่อชัยชนะอย่างยั่งยืน และกล่าวคำปฏิญาณตนร่วมกันต่อสู้คอร์รัปชั่น บริเวณลานเซ็นทรัลเวิลด์ และเดินถือป้ายเดินรณรงค์ตามเส้นทางถนนพระราม 1 มายังสถานที่จัดงาน มีการดูแลปลอดภัยอย่าง เข้มงวดโดยตำรวจทั้งในและนอกเครื่องโดยรอบงาน รวมทั้งสารวัตรทหารบกคอยตรวจสอบบุคคลที่ร่วมงานอย่างเข้มงวด 

แก้โกง-วาระแห่งชาติ 
      นายประมนต์ สุธีวงศ์ ประธานองค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น (ประเทศไทย) กล่าวว่า แนวทางการทำงานของเราสอดคล้องกับคสช.ที่ต้องการขจัดการทุจริตให้หมดจากประเทศ ไทย การขับเคลื่อนงานตั้งแต่ปี 2554 ที่เป็นจุดเปลี่ยนประเทศไทย ปี 2555 รวมพลังเปลี่ยนแปลงประเทศไทย มีทุกภาคส่วนมาร่วมกัน ปี 2556 กระตุ้นทุกภาคส่วนให้เห็นผลเป็นรูปธรรม และปีนี้สำคัญมากเพราะเรากำลังก้าวสู่การปฏิรูปครั้งยิ่งใหญ่ในประวัติ ศาสตร์ ในการล้มล้างระบคอร์รัปชั่น สร้างความปรองดองสมานฉันท์ของภาคราชการให้การคอร์รัปชั่นหายไปจากประเทศไทย
      จากนั้น พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวปาฐกถา ว่า วันนี้ตื่นเต้นเล็กน้อยเพราะเป็นงานแรกที่ปฏิบัติงานนอกสถานที่เป็นครั้งแรก และยังไม่รู้สึกว่าเป็นนายกฯแต่รู้สึกว่าเป็นหน้าที่ที่ต้องทำ ปีนี้เป็นปีแห่งการปฏิรูปประเทศไทย รัฐบาลและคสช.ให้ความสำคัญและกำหนดให้การแก้ไขการทุจริตคอร์รัปชั่นอยู่ในทุกหัวข้อการปฏิรูป ถือเป็นวาระแห่งชาติ เป็นหัวใจสำคัญของการปฏิรูปประเทศ เพราะการทุจริตคอร์รัปชั่นสั่งสมมานานทำให้เกิดหลายปัญหา รัฐบาลจึงถือเป็นประเด็นแรกที่ต้องแก้ไขเร่งด่วนให้มีผลเป็นรูปธรรม หากปล่อยไว้จะสร้างค่านิยมผิดๆ ให้เยาวชน ซึ่งรัฐบาลไม่สามารถแก้ปัญหาได้ทั้งหมด ต้องอาศัยทุกภาคส่วนสร้างทุกระบบให้เข้มแข็ง เพื่อต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่น 

ให้สัญญาปราบทุจริต-ผิดกม.
       พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ระบบราชการต้องยึดแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง นำหลักธรรมา ภิบาลมาใช้ในการปฏิบัติงาน ทุกขั้นตอนต้องโปร่งใส ตรวจสอบได้ มีประสิทธิภาพไม่เอื้อประโยชน์กลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง จึงขอให้ภาครัฐภาคเอกชนประชาชนร่วมมือกันเป็นเครือข่าย โดยร่วมมือองค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่นอย่างจริงจัง คนไทยต้องเริ่มปลูกจิตสำนึกคุณธรรมและจริยธรรม อย่าเมินเฉยต่อการทุจริต วันนี้เป็นวันแห่งประวัติศาสตร์ และปีนี้เป็นปีแห่งการปฏิรูปประเทศไทยให้ก้าวหน้าและให้เกิดการปฏิรูปยั่งยืน เจริญทัดเทียมประเทศต่างๆ 
        พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า คนไทยรักง่ายเกลียดง่าย ใจอ่อน ถ้าเกลียดก็เกลียดกันจนตาย แต่เดี๋ยวก็ให้อภัยกัน หยวนๆ แต่ต้องมีหลักการ กฎหมายก็คือกฎหมายเพราะเป็นส่วนทำให้สังคมมีสันติสุข แต่ไม่ใช่เพื่อทำลายล้างใคร อยากให้คนรู้สึกอย่างนั้น พิจารณาอย่างเป็นเหตุเป็นผล เดินอย่างไรให้ได้รับการยอมรับ ไม่กี่ปีที่ผ่านมากฎหมายทำให้เกิดปัญหามากมาย วันนี้ต้องเร่งคิดพิจารณาว่าควรเดินไปอย่างไร เป็นเหตุเป็นผลได้รับการยอมรับให้เกิดความเข้มแข็ง ภาคตุลาการต้องทำตรงนี้ให้ได้ บุคลากรของเรามีความรู้ มีคุณภาพทุกสายงาน 
      "วันนี้ประเทศไทยเดินด้วยอำนาจบริหาร นิติบัญญัติ และตุลาการ ทั้ง 3 อำนาจ ที่เป็นพระราชอำนาจพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ใครก็ตามที่นำพระราชอำนาจมาใช้ในทางที่ผิดคนเหล่านั้นไม่เจริญ เพราะเป็นแผ่นดินของพระมหากษัตริย์" พล.อ.ประยุทธ์กล่าวและว่า วันนี้ขอให้คำมั่นสัญญาว่ารัฐบาลและคสช.จะทำทุกอย่างให้ดีที่สุด ที่จะทำให้ประเทศชาติก้าวหน้า โดยเฉพาะวงจรต่างๆ ต้องปราศจากการทุจริตคอร์รัปชั่น ผิดกฎหมาย โดยเร็วที่สุด ทุกภาคส่วนต้องร่วมมือกัน ขณะที่รัฐบาลมีรัฐมนตรี ปลัดกระทรวง ขับเคลื่อนการทำงาน 

รู้คนเบื่อ-สั่งพม.สร้างละคร
       พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า คสช.เข้ามา 4 เดือน แบกภาระไว้เต็มบ่า แต่อย่ากังวลว่าเราจะทำได้หรือไม่และตนไม่ใช่นักการเมืองไม่จำเป็นต้องรักษาฐานเสียงที่ไหน เข้ามาปรับปรุงเปลี่ยนแปลง ไม่ได้เข้ามาก้าวล่วงใคร นี่คือการควบคุมอำนาจของตน ไม่ได้กุมอำนาจเพื่อผลประโยชน์ของตนหรือคสช. เพราะตนเพียงพอแล้ว และต้องสร้างให้ทุกคนอยู่ดีและสร้างความเข้าใจให้กับสังคมเพื่อให้เกิดกระบวนการกำจัดคอร์รัปชั่นอย่างยั่งยืนทั้ง 11 เรื่องของการปฏิรูป ถ้าไทยมีเสถียรภาพอีกไม่นานจะเป็นมหาอำนาจอย่างแน่นอน วันนี้ต้องขอความร่วมมือจากทุกคนในการขับเคลื่อนปัญหาต่อไป อย่าปล่อยให้เขาลดระดับประเทศเราอีก 
         พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวตอนหนึ่งด้วยว่า ที่พูดซ้ำๆ ทุกๆ สัปดาห์ บางคนบอกว่าเบื่อหน่าย เพราะสู้กับละคร วันนี้จึงสั่งให้กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ไปดูเรื่องทำละครว่าจะมีใครดูหรือไม่ ตอนนี้พระเอกนางเอกก็พอมี เหลือบทแม่กับป้า ทั้งนี้ เพื่อให้สอดคล้องกับวัฒนธรรมไทยและแนะนำสถานที่ท่องเที่ยว จะได้รู้ว่าประเทศ ไทยมีอะไรอยู่ที่ไหนบ้าง
       พล.อ.ประยุทธ์ ให้สัมภาษณ์สั้นๆ ว่า เรื่องการแก้ไขจัดให้การแก้ปัญหาทุจริตคอร์รัปชั่นเป็นวาระแห่งชาตินั้นมีแนวทางอยู่แล้ว

อสส.ชี้ความถูกต้องที่ไม่ถูกใจ
        เวลา 11.45 น. มีการแสดงวิสัยทัศน์การต่อต้านคอร์รัปชั่นจากภาคราชการและเอกชน นายตระกูล วินิจนัยภาค อสส. กล่าวว่า สิ่งสำคัญต่อการต่อต้านทุจริตคอร์รัปชั่นมี 3 แนวทาง คือ 1.การปลูกฝัง ควรบรรจุวิชาหน้าที่พลเมืองไว้ในการเรียนการสอน 2.การป้องกัน ยอมรับว่าในรอบ 2-3 ปีที่ผ่านมา กระบวนการยุติธรรมมีปัญหา โดยเฉพาะความร่วมมือในกระบวนการยุติธรรม ซึ่งต้องคุยกับนายปานเทพ ประธานป.ป.ช. ถึงการทำงานร่วมกันเพื่อรวบรวมพยานหลักฐานที่รอบคอบและรวดเร็ว เพราะเชื่อว่ากระบวน การยุติธรรมที่ดี คือ เรื่องหาพยานหลักฐานที่รอบคอบและรวดเร็ว บางเรื่องอาจไม่ถูกใจ แต่เชื่อว่าความถูกต้องที่ไม่ถูกใจต้องใช้เวลาบ้างในการทำให้ทุกอย่างเกิดความยุติธรรมในแผ่นดินนี้ และ 3. การปราบปรามรวมถึงการประณาม

กระบวนการลงโทษต้องเร็วขึ้น 
        ด้านนายถวิล เปลี่ยนศรี เลขาธิการสภา ความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) กล่าวว่า มีผลสำรวจว่ามีการจ่ายเงินใต้โต๊ะที่ระดับ 20-60 เปอร์เซ็นต์ สาเหตุหลักมี 3 ประสานผลาญชาติ คือ นักการเมืองเลว ข้าราชการชั่ว ผู้ประกอบการที่ไม่รับผิดชอบ ข้อต่อวงจรคอร์รัปชั่นที่สำคัญคือข้าราชการ บ้านเมืองที่เคราะห์ร้ายเมื่อเจอนักการเมืองที่ไม่ผูกพันผลประโยชน์ประชาชน สามารถบันดาลสิ่งต่างๆ ให้ข้าราช การได้ ทำให้ข้าราชการเป็นตัวพาคนไม่ดีมาโกงผลประโยชน์ชาติ สิ่งที่ต้องแก้มี 2 ทาง คือ 1.การแก้ไขคือ จับไปลงโทษ เป็นวิธีที่มีข้อจำกัดเรื่องระยะเวลาดำเนินงานที่ยาวทำให้คนไม่กลัว แต่มองว่าต้องทำต่อด้วยการปรับให้กระบวนการเร็วขึ้นเพื่อให้คนเกรงกลัว และ 2.การป้องกัน ถ้าทำได้ถือเป็นวิธีที่ยั่งยืน 
      นายสุพันธ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาห กรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ปัญหาการคอร์รัปชั่นหากแก้ไม่ตรงจุดไม่มีทางที่จะหมดไปได้ หากไม่มีมาตรการ เช่น ลงโทษผู้ที่กระทำผิด รณรงค์ให้ภาคสังคมสนับสนุนธุรกิจที่ร่วมเป็นภาคีต่อต้านการคอร์รัปชั่น หรือ เผยแพร่ชื่อบริษัทที่พบพฤติกรรมไม่โปร่งใส
     ส่วนนายสุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ นายกวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวว่า วิศวกรไทยไม่เอาคอร์รัปชั่น ขอเป็นส่วนหนึ่งรวมพลังต่อสู้เพื่อชัยชนะที่ยั่งยืน การคอร์รัปชั่นเป็นต้นตอของทุกปัญหาและทำลายความฝันของคนรุ่นหลังรวมถึงทำลายโอกาสคนเก่ง คนดี

ปฏิรูปการเมือง-ลดงบหาเสียง
       เวลา 16.30 น. มีการสรุปการเสวนากลุ่มย่อยทั้ง 3 หัวข้อ นายอัทธ์ พิศาลวานิช คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ ม.หอการค้าไทย กล่าวว่า การปฏิรูปการเลือกผู้แทนราษฎร สรุปได้ 7 ประเด็น คือ ควรให้มีการศึกษาแก่ประชาชนอย่างทั่วถึง เพื่อเป็นแนวทางในการตัดสินใจเลือกนักการเมืองที่ดี ให้ประชาชนมีสิทธิเลือกตั้งแบบดั้งเดิม การเลือกจากสายวิชาชีพต่างๆ ส่วนที่มาของนายกฯ ไม่จำเป็นต้องมาจากพรรคการเมือง ให้การเลือกตั้งเป็นประชาธิป ไตยอย่างแท้จริงไม่ใช่แค่การแสดงเครื่องหมาย รวมถึงต้องมีการปฏิรูปการจัดการเลือกตั้ง ซึ่งเป็นหน้าที่สำคัญของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เช่น ลดต้นทุนในการหาเสียง หากเกินกว่าที่กกต.กำหนดให้ถือว่าผิดกฎหมายอย่างร้ายแรง ที่สำคัญต้องปฏิรูปพรรคการเมืองและนักการเมือง โดยจำกัดระยะเวลาการเป็นส.ส. และนโยบายของพรรคการเมืองควรสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ของประเทศ 

ปปช.-ปปท.ต้องถูกตรวจสอบ
       นายวิชัย อัศรัสกร เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น กล่าวว่า การปฏิรูปการจัดซื้อจัดจ้างของหน่วยงานภาครัฐ สรุปได้ว่าทุกคนเบื่อหน่ายเรื่องการบังคับใช้กฎหมายเพื่อลงโทษผู้กระทำผิดเพราะกฎหมายไม่ศักดิ์สิทธิ์ กลไกไม่สามารถนำคนผิดมาลงโทษได้ อีกทั้งกระบวนการยุติธรรมยาวเกินไป จึงต้องมีการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง ขณะที่รัฐต้องส่งเสริมความเป็นธรรม พร้อมกับเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วม
        นายมานะ นิมิตรมงคล ผอ.องค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น กล่าวว่า การหาแนวทางใหม่เพื่อการต่อสู้คอร์รัปชั่น เสนอให้เน้นการต่อต้านคอร์รัปชั่นด้วยพลังของประชาชน โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ ขอให้สร้างค่านิยมการไม่ยอมรับการคอร์รัปชั่นในทุกระดับ และให้รัฐบาลกำหนดแผนรณรงรค์การต่อต้านคอร์รัปชั่นที่เป็นรูปธรรม โดยให้ทำต่อเนื่อง 5 ปี ให้ลดระบบอุปถัมภ์ที่ช่วยกันปกปิดคอร์รัปชั่น รวมถึงรัฐบาลต้องแก้กฎหมายที่เกี่ยวกับการบริหารงานบุคคลในราชการ เช่น การโยกย้าย การลงโทษทางคดีคอร์รัปชั่นต้องมีมาตรการที่รุนแรงและรวดเร็ว ขณะเดียวกันองค์กรของรัฐที่ทำงานต่อต้านคอร์รัปชั่น เช่น ป.ป.ช. ป.ป.ท.ต้องถูกตรวจสอบได้ 

ตจว.จัดกิจกรรมรณรงค์ด้วย
      นอกจากการจัดงานต้านคอร์รัปชั่นที่กทม.แล้ว ตามต่างจังหวัดบางแห่งมีการจัดกิจกรรมด้วย เช่นที่ จ.ลำปาง มีกิจกรรมที่ข่วงนครห้าแยกหอนาฬิกา หน้าสำนักงานเทศบาลนครลำปาง อ.เมือง จ.ลำปาง นายฤทธิพงศ์ เตชะพันธ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง พร้อมด้วย พล.ต.อุกฤษ์ อากาศวิภาต ผบ.มทบ.32 ค่ายสุรศักดิ์มนตรี จ.ลำปาง และภาคีเครือข่ายภาคเอกชน และประชาชนกว่า 1,000 คน ร่วมกันเปิดกิจกรรม จากนั้นแบ่งเป็น 2 ชุดคือเดินรณรงค์ และปั่นจักรยาน
       จ.พระนครศรีอยุธยา ที่หน้าศาลากลางจังหวัดพระนครศรีอยุธยาหลังเก่า พ.อ.อ. ปัญญา สระทองอุ่น รองผู้ว่าฯ นายเกรียงไกร ด่านชัยวิจิตร ประธานหอการค้าจังหวัด ร่วมเปิดงานปั่นจักรยานในโครงการ "ปั่นต้านโกง" สองเท้าปั่น สองมือไขว้ คนรุ่นใหม่ร่วมใจต้านโกง ไปตามเส้นทางรอบเกาะเมืองมรดกโลก อุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา ระยะทาง 13 กิโลเมตร 

มทภ.3 ยังไม่เลิกอัยการศึก
       พล.ท.ปรีชา จันทร์โอชา แม่ทัพภาคที่ 3 กล่าวถึงการพิจารณายกเลิก พ.ร.บ.กฎอัยการศึก พ.ศ.2457 ว่า เบื้องต้นมีการพิจารณารวบรวมข้อมูลไว้หมดแล้ว จนพบว่ายังคงมีกลุ่มผู้ต่อต้านอยู่ในลักษณะการเคลื่อนไหวแบบคลื่นใต้น้ำ ฉะนั้นในพื้นที่รับผิดชอบของกองทัพภาคที่ 3 ยังคงไม่พิจารณายกเลิกกฎอัยการศึก เพราะอาจเป็นช่องทางให้กลุ่มต้านเคลื่อนไหวได้ ส่วนจะมีผลต่อพื้นที่เศรษฐกิจหรือไม่นั้น คิดว่าไม่มี เพราะประชาชนยังคงใช้จ่ายได้ตามปกติและยังมีนักท่องเที่ยวเดินทางท่องเที่ยวอย่างต่อเนื่อง แต่ช่วงนี้นักท่องเที่ยวน้อยเป็นเพราะอยู่ในช่วงนอกฤดูกาลท่องเที่ยว ย้ำว่าจะยกเลิกกฎอัยการศึกหรือไม่ก็จะไม่มีผลต่อพื้นที่เศรษฐกิจ อีกทั้ง พล.อ.ประยุทธ์กล่าวไว้ในรายการคืนความสุขให้คนในชาติเมื่อวันที่ 5 ก.ย.ว่า ยังไม่มีการพูดถึงในเรื่องนี้ แต่ได้รวบรวมข้อมูลหมดแล้วเพื่อรอฟังคำสั่งอีกที 

ร่างข้อบังคับสนช.-ใหม่ 3 มาตรา
        นายตวง อันทะไชย สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ในฐานะโฆษกคณะกรรมา ธิการยกร่างข้อบังคับ สนช. เผยว่า ร่างข้อบังคับการประชุมร่างเสร็จเรียบร้อยแล้ว บรรจุเข้าสู่วาระการประชุม สนช.วันที่ 11 ก.ย.นี้ ร่างทั้งหมดมี 17 หมวด 1 บทเฉพาะกาล รวมทั้งหมด 221 ข้อ ส่วนใหญ่ยึดตามร่างข้อบังคับการประชุม สนช.ปี 2549 มีเรื่องใหม่เพิ่มเข้ามา 3 เรื่อง คือ 1.การกำหนดการสิ้นสมาชิกภาพของ สนช.ตาม มาตรา 9 (5) ของรัฐธรรมนูญ ฉบับชั่วคราว ปี 2557 สมาชิก ที่ไม่แสดงตนเพื่อลงมติเกินกว่า 1 ใน 3 ของจำนวนครั้งที่มีการแสดงตนทั้งหมดในระยะเวลา 90 วัน ให้สมาชิกภาพสิ้นสุดลง ยกเว้นมีการทำหนังสือขอลาประชุมต่อประธาน สนช. 2.จำนวนคณะกรรมาธิการสามัญประจำ สนช.มี 16 คณะ บวกคณะกรรมาธิการกิจการ สนช.อีก 1 คณะ รวมเป็น 17 คณะ สมาชิกเป็นกรรมาธิการได้ไม่เกิน 2 คณะ ส่วน คนที่เป็นประธานกรรมาธิการเป็นได้เพียง คณะเดียว 
       3.หมวดการถอดถอนบุคคล และให้บุคคลพ้นจากตำแหน่ง การเพิ่มหมวดดังกล่าวเนื่อง จากรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว ปี 2557 ให้ สนช.ทำหน้าที่เป็นทั้ง ส.ส.และส.ว. ในส่วนของ ส.ว.มีอำนาจแต่งตั้งถอดถอนบุคคลที่ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ทำให้จำเป็นต้องร่างข้อบังคับเรื่องถอดถอนขึ้นมาเพื่อรองรับ ไม่ได้เป็นการจงใจที่จะดำเนินการถอดถอน ผู้ใดผู้หนึ่ง อย่างไรก็ตาม ร่างข้อบังคับดังกล่าว จะต้องเข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุม สนช.ซึ่งจะเห็นอย่างไรก็เป็นเรื่องของมติที่ประชุม 

ถอดถอนแยกเป็น 4 ส่วน
         ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ร่างข้อบังคับในหมวดของการถอดถอนและการให้บุคคลพ้นจากตำแหน่งมี 4 ส่วน ส่วนแรก คือ การถอด ถอนผู้ดำรงตำแหน่งตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ส่วนนี้กำหนดคำนิยามต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น คำร้อง ผู้ถูกกล่าวหา ผู้ดำรงตำแหน่ง คู่กรณี คณะกรรมการ ป.ป.ช. ทั้งกำหนดขั้นตอนระยะเวลาการดำเนินการถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่ ป.ป.ช.ชี้มูลด้วย ส่วนที่สองคือ การถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งตามกฎหมายอื่น กำหนดการถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งตามกฎหมายว่าด้วยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ หรือผู้ดำรงตำแหน่งตามกฎหมายอื่น
        ส่วนที่สาม คือ การให้บุคคลพ้นจากตำแหน่ง กำหนดคำนิยามผู้ร้อง โดยผู้มีสิทธิร้องขอให้สภามีมติให้บุคคลพ้นจากตำแหน่งตามที่กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วย ป.ป.ช. กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน กฎหมายว่าด้วยองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทร คมนาคม หรือการที่กฎหมายอื่นกำหนด พร้อมกำหนดขั้นตอนการยื่นคำร้องด้วย 
       ส่วนที่สุดท้าย คือ การให้ความเห็นชอบให้บุคคลพ้นจากตำแหน่ง ซึ่งเป็นกรณีที่สภาจะต้องพิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคล พ้นจากตำแหน่งตามที่กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วย ป.ป.ช. กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน กฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน กฎหมายว่าด้วยองค์กรอัยการ และพนักงานอัยการ หรือ ตามที่กฎหมายอื่นกำหนด 
       อย่างไรก็ตาม กระบวนการในการถอด ถอนข้อบังคับกำหนดให้ลงคะแนนลับ และเมื่อสภาลงมติแล้วให้ประธานแจ้งมติต่อกรรมการ ป.ป.ช. ผู้ถูกกล่าวหา หรือ ผู้ถูกถอดถอนออกจากตำแหน่ง รวมทั้ง เลขาธิการ ครม. และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง

นัดสนช.ถกข้อบังคับ 11 ก.ย.
       สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา ปฏิบัติหน้าที่สำนักงานเลขาธิการ สนช. ออกทำหนังสือด่วนมาก ที่ สว(สนช) 0007/(น11) ถึงสมาชิก สนช.ตามที่ นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช.มีคำสั่งนัดประชุม สนช.ครั้งที่ 7/2557 ในวันที่ 11 ก.ย. เวลา 10.00 น. โดยมีวาระเรื่องด่วนเพื่อพิจารณาร่างข้อบังคับการ ประชุมฯ พ.ศ. .... ตามที่คณะกรรมาธิการสามัญยกร่างข้อบังคับฯ ได้พิจารณาเสร็จแล้ว ยังมีวาระพิจารณาร่างกฎหมายอีก 5 ฉบับ ตามที่ พล.อ.ประยุทธ์ เสนอ หลังจากเลื่อนการพิจารณาเมื่อวันที่ 5 ก.ย.ที่ผ่านมา เนื่องจากประธาน สนช.มีคำสั่งให้งดประชุม เพื่อรอให้คณะรัฐมนตรีได้แถลงนโยบายต่อสภาตามประเพณีการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขก่อนที่จะปฏิบัติหน้าที่อื่น ดังนี้ 1. ร่างพ.ร.บ.การรับขนทางอากาศระหว่างประเทศ พ.ศ. ... 2.ร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดบางประการต่อการเดินอากาศ พ.ศ. ... 3.ร่าง พ.ร.บ.การรับขนคนโดยสารทางถนนระหว่างประเทศ พ.ศ. ... 4.ร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน (ฉบับที่...) พ.ศ. ... และ 5. ร่าง พ.ร.บ.มาตราชั่งตวงวัด (ฉบับที่ ...) พ.ศ. ...

สมัครสปช.ยอดขยับเพิ่มอีก 
         นายภุชงค์ นุตตราวงศ์ เลขานุการ กกต. กล่าวถึงการสรรหา สปช. 11 ด้าน ว่า ทราบจากคณะกรรมการสรรหาทั้ง 11 ด้านว่าในส่วนของทั้งจังหวัดและส่วนกลางเลื่อนกำหนดการสรรหาจากเดิมคือวันที่ 13 ก.ย. เป็นวันที่ 12-22 ก.ย. ในส่วนของจังหวัดคาดการณ์จะมีการประชุม 1-2 ครั้ง เพราะมี ผู้สมัครน้อย ยกเว้นกรุงเทพฯที่อาจประชุมมากกว่า 2 ครั้ง เนื่องจากมีผู้สมัครจำนวนมากและหลากหลาย สำหรับกรอบการสรรหาของคณะกรรมการทั้ง 11 ด้าน คือพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการสรรหา สปช. พ.ศ.2557 โดยจะพิจารณาคุณสมบัติว่าบุคคลนั้นๆ มีความเหมาะสมอย่างไร ที่สำคัญ พล.อ. ประยุทธ์มอบแนวทางการทำงานมาแล้วว่าต้องเน้นรอบคอบ โปร่งใส เป็นธรรม ตนได้หารือกับคณะกรรมการสรรหาทั้ง 11 ด้านแล้วว่าต้องดำเนินการเรื่องนี้และจะไม่พิจารณาเฉพาะคนที่มีชื่อเสียง ต้องกระจายความหลากหลาย ให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย ซึ่งยอดรวมของผู้สมัครวันนี้คือ 7,360 คน คาดว่าจะสามารถสรุปยอดรวมอย่างเป็นทางการได้หลังจากรวบรวมเอกสารที่สมัครทางไปรษณีย์และด่วนพิเศษแล้วไม่เกินวันที่ 8 ก.ย.นี้