พาณิชย์ เผยลำไยไทยรุ่งในเซี่ยเหมิน ผู้บริโภคถูกใจ หวาน หอม ผลใหญ่ เมล็ดเล็ก
- Details
- Category: พาณิชย์
- Published: Saturday, 25 January 2025 11:37
- Written by: admin
- Hits: 3241
พาณิชย์ เผยลำไยไทยรุ่งในเซี่ยเหมิน ผู้บริโภคถูกใจ หวาน หอม ผลใหญ่ เมล็ดเล็ก
กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) เผยลำไยไทย มีโอกาสขยายตลาดเข้าสู่เมืองเซี่ยเหมินเพิ่มเติม หลังพบความต้องการเพิ่มขึ้น ผู้บริโภคถูกใจ เพราะรสชาติหวาน หอม ผลใหญ่ เมล็ดเล็ก แนะผู้ส่งออกคุมคุณภาพ รักษามาตรฐาน และปฏิบัติตามกฎระเบียบอย่างเคร่งครัด มั่นใจมีโอกาสเติบโตต่อเนื่อง ชี้ทุเรียน เป็นสินค้าที่มีโอกาสไม่แพ้กัน
น.ส.สุนันทา กังวาลกุลกิจ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า กรมได้มอบนโยบายให้ทูตพาณิชย์ที่ประจำอยู่ในประเทศต่างๆ ทำการสำรวจลู่ทางการค้า และโอกาสการส่งออกสินค้าไทยไปยังประเทศที่ประจำอยู่ ตามนโยบายนายพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ที่ได้สั่งการให้หาตลาดล่วงหน้าให้กับสินค้าเกษตรของไทย
ล่าสุด ได้รับรายงานจาก น.ส.นันท์นภัส งามแม้น ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองเซี่ยเหมิน สาธารณรัฐประชาชนจีน ถึงการสำรวจตลาดสินค้าลำไยไทยในจีน และโอกาสในการส่งออกลำไยไทยเข้าสู่ตลาดเมืองเซี่ยเหมิน ที่ยังมีโอกาสขยายตัวได้เพิ่มมากขึ้น
ทั้งนี้ ทูตพาณิชย์ได้รายงานข้อมูลว่า แม้จีนจะหันมาปลูกลำไย แต่ต้นทุนการปลูกและแปรรูปสูงขึ้น ทำให้พื้นที่ปลูกลดลง จึงต้องนำเข้า โดยลำไยอบแห้งที่เมืองเซี่ยเหมินนำเข้าส่วนใหญ่มาจากไทย เพราะมีรสชาติหวาน หอม ผลใหญ่ เมล็ดเล็ก จึงเป็นที่นิยมในหมู่ผู้บริโภคชาวจีน โดยส่วนใหญ่จะบริโภคโดยตรงหรือเป็นส่วนประกอบในอาหารแปรรูป เช่น อาหารกระป๋อง
และในช่วง 9 เดือนปี 2567 (ม.ค.-ก.ย.) เมืองเซี่ยเหมินนำเข้าผลไม้รวม 101,500 ตัน มูลค่า 1,470 ล้านหยวน เพิ่มขึ้น 61.39% และปริมาณผลไม้ที่นำเข้าสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ ลำไย (รวมถึงลำไยแห้ง/เนื้อและลำไยสด) ทุเรียนสด และมะพร้าวแห้ง มีปริมาณนำเข้า 27,000 ตัน 19,800 ตัน และ 12,300 ตัน ตามลำดับ รวมกันคิดเป็น 58.25% ของการนำเข้าผลไม้ทั้งหมด
ส่วนประเทศที่เมืองเซี่ยเหมินนำเข้าผลไม้ คือ ไทย เวียดนาม และอินโดนีเซีย โดยในช่วง 9 เดือนปี 2567 เซี่ยเหมินนำเข้าผลไม้จากไทย 40,300 ตัน เวียดนาม 25,800 ตัน และอินโดนีเซีย 12,900 ตัน และยังเริ่มมีการนำเข้าจาก สปป.ลาว สาธารณรัฐมาลี และฝรั่งเศสเพิ่มขึ้น
สำหรับ ช่องทางการนำเข้า ปัจจุบัน การนำเข้าผลไม้มายังเมืองเซี่ยเหมินใช้วิธีการขนส่ง 3 รูปแบบ ได้แก่ ทางน้ำ ทางถนน และทางอากาศ โดยการขนส่งทางน้ำมีสัดส่วนมากที่สุด โดยในช่วง 9 เดือน ปี 2567 เมืองเซี่ยเหมินนำเข้าผลไม้ทางน้ำจำนวน 82,500 ตัน คิดเป็น 81.3% ของปริมาณผลไม้นำเข้าทั้งหมด การนำเข้าทางถนนและทางอากาศมีปริมาณ 18,900 ตัน และ 39.84 ตัน ตามลำดับ
นอกจากนี้ ทูตพาณิชย์ยังให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ท่าเรือในเมืองเซี่ยเหมิน มีเส้นทางการขนส่งทะเลกว่า 180 เส้นทาง มีมาตรการขนส่งที่เอื้อประโยชน์ต่อกันหลากหลายรูปแบบ ทำให้การขนส่งทางน้ำมีประสิทธิภาพด้านเวลาและราคาที่คุ้มค่ามากกว่า เนื่องจากหากนำเข้าผลไม้ผ่านการขนส่งทางถนนต้องผ่านหลายประเทศและใช้เวลานานในการเดินทาง แต่การขนส่งทางน้ำสามารถขนส่งจากประเทศผู้ส่งออกหรือจากท่าเรือโดยตรงมายังจีนได้โดยตรง
ซึ่งช่วยลดทั้งต้นทุนและระยะเวลาในการขนส่ง เมื่อเปรียบเทียบกับการขนส่งทางอากาศ การขนส่งทางน้ำมีข้อดีด้านปริมาณการขนส่งที่มากกว่า ราคาถูกกว่า เหมาะสำหรับการขนส่งผลไม้จำนวนมากที่สามารถเก็บรักษาได้นาน อีกทั้งยังทำให้ผู้บริโภคเข้าถึงผลไม้ที่มีราคาสมเหตุสมผลและรสชาติสดใหม่ได้มากขึ้น
“ลำไยถือเป็นผลไม้ส่งออกศักยภาพของไทย โดยเมืองเซี่ยเหมินมีการนำเข้าลำไย ทั้งแห้งและสด ปริมาณสูงเป็นอันดับที่ 1 ติดต่อกันอย่างต่อเนื่อง ผู้ประกอบการไทย จะต้องรักษาคุณภาพ มาตรฐาน เพื่อรักษาความเชื่อมั่นจากผู้บริโภคในจีน และหาพันธมิตรใหม่ๆ เพื่อกระจายความเสี่ยง ควรเลือกคู่ค้าที่มีประวัติดี มีประสบการณ์ และความน่าเชื่อถือ ดำเนินการตามกฎระเบียบการนำเข้าอย่างเคร่งครัด
อย่าสำแดงราคาต่ำเกินราคากลางของศุลกากรจีน ซึ่งถือเป็นความผิดทางกฎหมายอย่างรุนแรง เพื่อให้ลำไยไทยเจาะเข้าตลาดเมื่องเซี่ยเหมินได้อย่างต่อเนื่อง และเป็นที่น่าสังเกต เซี่ยเหมินมีการนำเข้าทุเรียนสดเพิ่มมากขึ้น รองจากลำไย ซึ่งถือเป็นโอกาสดีที่ผู้ประกอบการไทยจะขยายตลาดทุเรียนได้เพิ่มขึ้นด้วย”น.ส.สุนันทากล่าว